“การบินไทย”ขอรับวัคซีนโควิด ชี้สัญญาณอุตฯการบินฟื้น

“การบินไทย”ขอรับวัคซีนโควิด  ชี้สัญญาณอุตฯการบินฟื้น

“การบินไทย”ยื่นขอฉีดวัคซีนโควิด-19ให้นักบินและลูกเรือ ชี้เป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังสัญญาณอุตสาหกรรมการบินฟื้นปลายปีนี้ คาดผู้โดยสารเพิ่ม20% เผยลงนามร่วมไออาต้า นำร่องใช้แอปพลิเคชั่นจัดการเอกสารรับรอง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาดำเนินการฉีดให้กับนักบินและลูกเรือของการบินไทย เนื่องจากพนักงานส่วนดังกล่าวถือเป็นด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศ ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แต่เป็นบุคคที่ต้องเสียสละด้วยหน้าที่ ในการต้อนรับและบริการนักท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ

“เราได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งตอนนี้เข้าใจดีว่าอยู่ในช่วงของการฉีดให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งเราก็สามารถรอคิวได้ แต่ได้แจ้งไปแล้วว่าเราขอเข้าคิวในการรับวัคซีน เพื่อเป็นด่านหน้าในการนำรายได้ทางการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ” นายชาญศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ การบินไทยประเมินว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ผู้โดยสารการบินไทยจะกลับมาในสัดส่วน 40-50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเหลือเพียง 10% โดยการเดินทางจะเริ่มกลับมาในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว คนจะเริ่มมั่นใจ และเดินทาง คาดว่าผู้โดยสารจะมีสัดส่วน 20%

สำหรับการให้บริการเที่ยวบินพิเศษ เพื่อรองรับการเดินทางรับคนไทยกลับบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาการบินไทย ปฏิบัติการบินอย่างมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อย่างเคร่งครัด

ในส่วนของลูกเรือการบินไทยทุกเที่ยวบินที่ให้บริการ จะสวมใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือในการบริการบนเที่ยวบินที่มีความเสี่ยง ให้บริการโดยไม่ให้ผู้โดยสารจับต้องเครื่องมืออุปกรณ์บริการอาหาร เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดภายในห้องน้ำระหว่างเที่ยวบิน จัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำหรับผู้โดยสารที่มีอาการสวมใส่บนเครื่อง ตลอดจนสังเกตอาการผู้โดยสารระหว่างเดินทาง หากมีอาการต้องสงสัยให้แยกผู้โดยสาร และแจ้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเครื่องลง

ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารที่เดินทางกลับมากับการบินไทยจะต้องเข้ารับการกักตัวตามมาตรการของภาครัฐอย่างเข้มงวดทุกเที่ยวบิน และการบินไทยยังได้ทำการฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดแบบ Deep Cleaning ในอากาศยานทุกลำหลังเครื่องลงจอด

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้การบินไทย และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ร่วมมือกับ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่อง International Air Transport Association (IATA) Travel Pass ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทาง ให้สามารถบริหารจัดการเอกสารรับรองผลตรวจ หรือใบรับรองการรับวัคซีนของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญแก่เอกสารดังกล่าว และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศแบบไร้การสัมผัส ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งในอนาคต อีกทั้ง IATA Travel Pass ยังมีศักยภาพสูงในด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและการรับรองผลตรวจและการรับวัคซีนที่เชื่อถือได้

ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการนำร่อง IATA Travel Pass ของการบินไทยและไทยสมายล์ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเดินทาง อันจะผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวทั่วโลก

สำหรับเที่ยวบินพิเศษที่การบินไทยเตรียมทำการบินในเดือน มี.ค.นี้มีจำนวน 13 เส้นทางบิน ประกอบไปด้วย เส้นทางเอเชีย อาทิ รุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) เส้นทางยุโรป อาทิ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- ลอนดอน,เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ปารีส,เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- แฟรงก์เฟิร์ต,เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม