การใช้จ่าย 'เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท' ปัจจุบันเหลือเท่าไร และต้องกู้เพิ่มอีกหรือไม่?
เกาะติดการใช้จ่าย "เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท" ที่รัฐนำมาเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงวิกฤติโควิด-19 ปัจจุบันเหลือเท่าไร และต้องกู้เพิ่มอีกหรือไม่?
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
จากภาพรวมการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ณ วันที่ 15 ก.พ.64) มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากครม. แล้ว 256 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 748,666 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่เตรียมไว้ใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ และฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 251,334 ล้านบาท และล่าสุดนี้ก็ได้มีการเบิกจ่ายเงินออกไปแล้ว 404,632 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54.05% ของวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว โดยการเบิกจ่ายเงินส่วนใหญ่จะเป็นการแจกเงินเยียวยาประชาชน 345,551 ล้านบาท
ทั้งนี้ความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 พ.ร.ก.กู้เงินฯนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ วงเงินสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท วงเงินช่วยเหลือเยียวยากลุ่มต่างๆ 6.0 แสนล้านบาท และวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.55 แสนล้านบาทพบว่า
เงินช่วยเหลือสนับสนุนค่อนข้างจะครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 32-35 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40) กลุ่มเปราะบาง (เด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา และผู้ที่มีบัตรคนพิการ)
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน และต่อมาก็ได้เงินเพิ่มอีกจากโครงการเราชนะ รวมถึงโครงการคนละครึ่ง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มหลังอาจมีความทับซ้อนกับกลุ่มที่ได้รับช่วยเหลือไปแล้ว และล่าสุดช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกจำนวน 9.27 ล้านคน โดยได้รับวงเงินช่วยเหลือเพื่อนำไปชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านแอพ “เป๋าตัง” คนละ 4,000 บาท
แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นการสนับสนุนโครงการระยะยาว สามารถช่วยเสริมทักษะและพัฒนาการประกอบอาชีพได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดการจ้างงานได้ ซึ่งขณะนี้ก็มีรายงานว่า ได้เกิดการสร้างตำแหน่งงานรองรับการว่างงานมากถึง 416,581 ตำแหน่ง โดยมีทั้งการจ้างงานในท้องถิ่น และนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจ้างงาน
สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) เร็วขึ้น และก่อเกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มองในแง่ดี การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วขึ้น คนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าตังอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลงทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ในโครงการต่างๆ ทำให้เกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆ ระหว่างหน่วยงาน
มองไปข้างหน้า ภาพรวมการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังเพียงพอประคองเศรษฐกิจ รัฐบาลยังเหลือเงินอีกเกือบครึ่งของวงเงินอนุมัติที่ยังไม่ได้นำไปใช้จ่าย กล่าวคือ หลังหักวงเงินที่อนุมัติแล้วและเบิกจ่ายแล้วประมาณ 54% ยังสามารถเร่งเบิกจ่ายงบที่ได้รับอนุมัติไปแล้วก่อนหน้าได้อีกเกือบ 3.5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินคงเหลืออีก 2.5 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 6 แสนล้านบาท จึงมองว่าหากรวมงบกลางและงบนี้ก็น่าจะมีเม็ดเงินเพียงพอในการดูแลประชาชน และพอประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการระบาดระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องมีงบเสริมและปรับวิธีการ แม้หนี้ภาครัฐอาจทะลุเพดาน 60% ต่อ GDP แต่ไม่น่ากระทบความเชื่อมั่นหรืออันดับความน่าเชื่อถือประเทศ เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการจ้างงานคนชนบทหรือสร้างแรงจูงใจให้คนมีรายได้ระดับกลาง-บนมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น