ทช.เตรียมสำรวจสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา งบลงทุน 1.6 พันล้าน

ทช.เตรียมสำรวจสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา งบลงทุน 1.6 พันล้าน

ทช.เตรียมเดินหน้าสำรวจออกแบบ สร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา หลังเคาะผลศึกษาความเหมาะสมอีไอเอแล้ว คาดเสนอ ครม.พิจารณาปลายปีนี้ จัดสรรงบปีหน้าราว 1.6 พันล้าน ลุยตอกเสาเข็ม เชื่อหนุนเดินทางและการท่องเที่ยว

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) สะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยระบุว่า ขณะนี้ ทช.ได้ศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

โดยกระบวนการในเบื้องต้น ทช.ประเมินว่ากระบวนการพิจารณาของ สผ. จะใช้ระยะเวลาประมาณ 7เดือน จากนั้นจะเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายปี เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอของบประมาณในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1.6 พันล้านบาท โดยภายหลังได้รับจัดสรรงบประมาณจะเริ่มสำรวจออกแบบทันที ส่วนงานก่อสร้างจะเริ่มในปี 2566 – 2568

สำหรับการดำเนินงานของ ทช.ในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เชิญกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยแบ่งเป็น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ, การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (2 กลุ่ม) และการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 (รวมทั้งหมด 3 ครั้ง) เพื่อสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 2,240 เมตร ส่วนรูปแบบโครงการ สรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไปทำให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ มีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

หลังจากนั้น ทช.ได้จัดการประชุมหารือมาตรการและประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อนําเสนอแนวสายทาง รูปแบบโครงการ พร้อมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไขลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสรุปผลการศึกษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

โดยในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเล จะมีมาตรการป้องกันการสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็กได้ถูกออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดสนิม มีสารเคลือบป้องกันสนิมโดยตรงตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีระบบตรวจสอบสภาพการเกิดสนิมและใช้ระบบไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวการเกิดสนิมไม่ให้เกิดที่สายเคเบิ้ล แต่ให้มาเกิดที่บ่อดักสนิมด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตแทน การป้องกันสนิมด้วยวิธีนี้เรียกว่าระบบแคโทดิก

161821960010

นายปฐม ยังกล่าวอีกว่า ทช.เล็งเห็นความจําเป็นของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ตำกาะกลาง กับเกาะลันตาน้อย ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ สู่ชุมชนอํานวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา

เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ ท่าเรือบ้านหัวหินไปยัง ท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย หลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย - เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน ย่านการค้า และตรงต่อไปยังหาดต่างๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ทั้งนี้ การใช้แพขนานยนต์ แม้จะเป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจำนวนจํากัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00 - 22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน