ธุรกิจผนึกกำลังอัดฉีดซอฟท์โลน ปลุกสภาพคล่องฟื้นชีพรายย่อย
ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย หรือ กิจการเอสเอ็มอี หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบสาหัส! จากวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดลากยาวตั้งแต่ต้นปี 2563 กระทั่งระบาดระลอก 3 ขณะนี้
ท่ามกลางสัญญาณชีพทางธุรกิจที่ต้องการตัวช่วย! มาตรการทางการเงิน อย่าง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อต่อลมหายใจ ประคอง และฟื้นฟูกิจการให้กลับมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เช่นเดิม
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ“ไอคอนสยาม”และสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพฯ กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยืดเยื้อมากกว่า 1 ปี ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน รวมถึงคู่ค้ากว่า 5,000 รายซึ่งเป็นผู้เช่าร้านค้าและพันธมิตรธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์ที่ต่างประสบปัญหาสภาพคล่อง! จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งให้คู่ค้าเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในต้นทุนที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพจัดการทางการเงินครบวงจร (Supply Chain Financing)
“เราจึงจัดมาตรการพิเศษเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของทุกคน! โดยร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยให้ความช่วยเหลือประคับประคองร้านค้าในศูนย์การค้าของกลุ่มสยามพิวรรธน์ให้ฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้”
ในทุกวิกฤติสยามพิวรรธน์ ช่วยเหลือผู้เช่าร้านค้าและพันธมิตรทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะให้ส่วนลดค่าเช่า ค่าบริการ การเพิ่มช่องทางการขายให้ร้านค้าผ่านบริการ Call&Shop, Siam Paragon Luxury Chat & Shop, Click & Shop และ Ultimate Chat&Shop รวมถึงธุรกิจประเภทอาหาร ร่วมกับแอพพลิเคชั่น “True Food” ขยายช่องทางขายแบบออมนิแชนแนล (Omni-Channel)
ทางด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมุ่งช่วยเหลือคู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ตามยุทธศาสตร์ “X2G2X” ความร่วมมือกับ “สยามพิวรรธน์” ครั้งนี้ มาตรการแรก “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงินกู้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก (ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และได้รับยกเว้นดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก นับแต่วันเบิกเงินกู้งวดแรก นอกจากนี้ ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด10 ปี และมีหลักประกันอื่นขั้นต่ำตามที่ธนาคารกำหนด
สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายเดิมของธนาคารกรุงไทยที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ขอสินเชื่อฟื้นฟูไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยหักลบกับวงเงินซอฟท์โลนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว สำหรับลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับทุกสถาบันการเงิน ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท
มาตรการที่สอง "สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของสยามพิวรรธน์" วงเงินกู้เบิกเกินบัญชีที่ให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ใช้หลักประกันต่ำ สามารถโอนชำระเงินให้คู่ค้าผ่านช่องทางหลากหลาย ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยเงื่อนไขสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันวงเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงิน หากสูงกว่าวงเงินแบบไม่มีหลักประกัน ใช้ บสย. ค้ำประกันร่วมกับหลักประกันอื่นได้
วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะนี้ มียอดขอสินเชื่อของผู้ประกอบการที่ ธปท.อนุมัติแล้ว 8,000 ล้านบาท และ ธปท.ส่งมาให้บสย.อนุมัติการค้ำประกันแล้ว 6,500 ล้านบาท อาจไม่สูงมากนักส่วนหนึ่งเพราะโครงการสินเชื่อซอฟท์โลน ธปท.ที่กำหนดให้บสย.เข้าค้ำประกันสินเชื่อนับตั้งแต่ปีแรก เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อ จึงอาจยังไม่ขยายตัวมากนัก
"โครงการนี้ กำหนดให้วงเงินสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท สิ้นสุดโครงการปี 2566 ขณะที่สถานการณ์โควิดยังไม่มีท่าทีคลี่คลายอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการยังมีเวลาขอสินเชื่อเพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น เชื่อว่ายอดขอสินเชื่อจะขยับมากกว่านี้”
สำหรับยอดการค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อราย สะท้อนว่า สินเชื่อซอฟท์โลนของธปท. ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนอย่างแท้จริง! ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะเอสเอ็มอี แต่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยเช่นกัน
โดย บสย.จะให้การค้ำประกันสูงสุด 40% ของหนี้เสีย ค้ำประกัน 10 ปี ค่าธรรมเนียม 1.75%ต่อปี และ รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่เกิน 3.5% ต่อปีตลอดสัญญา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการสินเชื่อนี้ได้ต้องมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท
ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา เฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธปท.
“โดยรวมต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ราว 3% ต้นๆ ต่อปีเท่านั้น”
สำหรับยอดการค้ำประกันสินเชื่อรวมของบสย.จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดคงค้างการค้ำประกันอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท