คลัสเตอร์เรือนจำ ผลกระทบและมาตรการรับมือในต่างประเทศ

คลัสเตอร์เรือนจำ ผลกระทบและมาตรการรับมือในต่างประเทศ

การติดเชื้อในเรือนจำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมโรค ที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำมิได้เกิดเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดในหลายประเทศ

'คลัสเตอร์เรือนจำ' กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในการรับมือโควิด 19 

เฉพาะวันที่ 17 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่จากเรือนจำมากถึง 6,853 คน ที่น่าตกใจคือ อัตราการพบเชื้อในผู้ต้องขังสูงถึง 49% หรือเรียกว่าครึ่งต่อครึ่ง โดยเรือนจำเชียงใหม่ มีอัตราการพบเชื้อมากสุด จากการตรวจ 6,469 คน มีผู้ติดเชื้อถึง 3,929 คน คิดเป็นสัดส่วนที่ 61%

การติดเชื้อในเรือนจำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมโรค ที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำมิได้เกิดเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดในหลายประเทศ บทความนี้จะรีวิวผลกระทบและมาตรการที่ต่างประเทศใช้ เพื่อรับมือปัญหาดังกล่าว เผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง

ทำไมเรือนจำจึงเป็นแหล่งที่โควิด 19 แพร่ระบาดรุนแรง

เรือนจำเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ด้วยสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก จากความเป็นอยู่ที่แออัด การใช้ชีวิตร่วมกัน 24 ชั่วโมง และการต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน สภาพดังกล่าวย่อมยากที่ผู้ต้องขังจะเว้นระยะห่าง หรือป้องกันตนเองจากโควิด 19 ยังไม่นับว่าผู้ป่วยโควิด 19 บางส่วนไม่แสดงอาการ ทำให้การคัดแยกผู้ป่วย หรือป้องกันการแพร่ระบาดทำได้ยาก

ประการที่สอง การแก้ปัญหาโดยให้ผู้ต้องขังใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาก็ทำได้ยาก เพราะผู้ต้องขังยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ ร่วมกัน

ประการที่สาม เรือนจำมีคนเข้าออกตลอดเวลา รับผู้ต้องขังรายใหม่เข้า ผู้ต้องขังรายเก่าต้องออกไปศาล เจอทนาย เจอผู้คน มีญาติมาเยี่ยม ตลอดจนการไปกลับของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

ประการที่สี่ ปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์สุขอนามัยสำหรับดูแลความสะอาดและฆ่าเชื้อ ไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังจำนวนมากสุขภาพไม่ดี มีโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำง่ายและรุนแรง

ดังที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีปริมาณนักโทษค่อนข้างมาก เข้าสู่ภาวะ 'นักโทษล้นคุก' และพื้นที่เรือนจำที่เก่าและแคบ ทำให้ความเป็นอยู่ค่อนข้างแออัด ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำ ถูกพูดถึงมานาน ไม่ใช่เพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด หรือต้นปี 2563

Prison Policy Initiative ประเมินว่า ในสหรัฐอเมริกา อัตราการติดเชื้อของผู้ต้องขังสูงถึง 20% จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด สอดคล้องกับข้อมูลจาก Brookings Institution ที่ระบุว่าอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำสูงกว่าภายนอกเรือนจำมาก เช่น ในเรือนจำของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อัตราการติดเชื้อสูงกว่าข้างนอก 14 เท่า หรือเรือนจำบางแห่งในมิชิแกน ที่อัตราการติดเชื้อมากถึง 50% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

หรืออีกงานวิจัย ของศาสตราจารย์ Kevin T. Schnepel แห่งมหาวิทยาลัย Simon Fraser ที่ประเมินว่า อัตราการติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำรัฐและเรือนจำกลางในสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 7,000 คนต่อ 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในประชากรทั่วไปกว่า 4 เท่า ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ในเรือนจำรัฐและเรือนจำกลางของสหรัฐฯ อยู่ที่ 61.8 รายต่อ 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในประชากรทั่วไป 2 เท่า 

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ที่อัตราการแพร่เชื้อโควิด 19 ในเรือนจำเร็วกว่านอกเรือนจำมากนัก เกิดขึ้นทั่วโลก

ผลกระทบของโควิด 19 ในเรือนจำ มิได้อยู่แต่ในเรือนจำ

การระบาดในเรือนจำไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในชุมชนรอบเรือนจำ เพราะบุคลากรของเรือนจำมีการเข้าออกหรือติดต่อชุมชนรอบข้างตลอดเวลา

ตัวอย่างผลกระทบของการแพร่ระบาดในเรือนจำสู่ชุมชนโดยรอบ เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร 'Health Affairs' ระบุว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 การระบาดในเรือนจำ 'Cook County Jail' ประเทศสหรัฐฯ มีส่วนทำให้มีผู้รับเชื้อถึง 15.9% ในชิคาโกและ 15.7% ในอิลลินอยส์

ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อทั้ง 1) คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังและบุคลากรในเรือนจำ 2) คุณภาพชีวิตของสมาชิกครอบครัวผู้ต้องขังและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 3) ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสู่ภายนอกเรือนจำ และ 4) เศรษฐกิจของชุมชนใกล้เคียง

าตรการที่เหมาะสม

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลและเรือนจำส่วนใหญ่ใช้เพื่อลดการแพร่ระบาด คือ ลดความหนาแน่นในเรือนจำ ทั้งปล่อยผู้ต้องขังบางส่วน และลดการรับผู้ต้องขังใหม่ เช่น 

- รัฐนิวเจอร์ซีย์ผ่านกฎหมายเมื่อ 19 ตุลาคม 2563 ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่เหลือโทษน้อยกว่า 1 ปี มาตรการดังกล่าวคาดว่าช่วยลดผู้ต้องขังในเรือนจำรัฐได้กว่า 4,000 คน 

- ผู้ว่าการรัฐฯรัฐนอร์ค แคโรไลน่า ออกคำสั่งปล่อยผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีกว่า 3,500 คนจากเรือนจำรัฐ โดยเปลี่ยนไปกักบริเวณหรือคุมประพฤติแทน 

- รัฐแคลิฟอร์เนีย ปล่อยผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและเหลือโทษน้อยกว่า 180 วัน และผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพ เปลี่ยนไปใช้วิธีคุมประพฤติแทน จากมาตรการดังกล่าว ช่วยให้ปล่อยผู้ต้องขังได้กว่า 8,000 คน

แม้กระทั่งหน่วยงานตำรวจในสหรัฐฯ ก็ปรับมาตรการเพื่อรับมือโควิด 19 โดยเน้นจับกุมลดลง และใช้มาตรการอื่นทดแทน เช่นการตักเตือน เน้นจับกุมเฉพาะการกระทำที่มีความผิดร้ายแรง ส่งผลให้ยอดการจับกุมของตำรวจลดลง เช่น รัฐเคนตักกี้ Director of the Kentucky Administrative Office of the Courts ให้ข้อมูลว่ายอดการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจลดลงจากวันละ 700 คน เหลือ 175 คน หรือในรัฐเดลาแวร์ ที่การจับกุมลดลงถึง 45%

การปล่อยตัวนักโทษชั่วคราวหรือก่อนกำหนด เป็นมาตรการที่ใช้ในหลายประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตัวอย่างเช่น ตุรกีมีการปล่อยผู้ต้องขังมากถึง 35% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ประเทศอื่นๆ เช่น ไซปรัสและสโลวีเนีย 15.9% โมนาโค 15.4% เป็นต้น 

นอกจากนี้ หลายเรือนจำเปลี่ยนเป็นใช้ระบบเยี่ยมทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ทดแทน โดยสนับสนุนค่าโทรศัพท์และค่าติดต่อสื่อสารในระหว่างนี้

สำหรับสถานการณ์ในไทย ปัจจุบันมีผู้ต้องขังราว 3.8 แสนคน แต่บางส่วนได้รับการพักโทษ ทำให้เหลือผู้ต้องขัง 3.1 แสนคน ซึ่งยังนับว่าแออัด เมื่อเทียบกับพื้นที่เรือนจำที่มี

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ควรพิจารณานโยบายเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ให้พักโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนดสำหรับผู้ต้องขังที่ความประพฤติดี ใกล้ครบกำหนดโทษ หรือผู้ต้องขังบางส่วนที่ถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันตัว โดยสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ เช่น ติดอุปกรณ์ติดตามตัว มีการคุมประพฤติ นอกจากนี้รัฐยังต้องมีมาตรการส่งเสริมผู้ได้รับการปล่อยตัว ในเรื่องการประกอบอาชีพและหารายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญช่วยผู้พ้นโทษไม่ต้องทำผิดซ้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจหลายประเภทเช่น ภาคท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ร้านนวด ร้านอาหาร หรือภาคก่อสร้าง ยังได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว หางาน หารายได้ ดูแลตัวเองได้ยาก จากปกติที่คนกลุ่มนี้ก็หางานยากอยู่แล้ว

การระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำเป็นเรื่องเร่งด่วน เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ครอบครัวผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนคุณภาพชีวิตชุมชนโดยรอบเรือนจำ และสังคมไทยทั้งหมด 

เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยไว และลดความเสี่ยงการสูญเสียชีวิต รัฐต้องออกมาตรการที่จำเป็น เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เช่น ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีกลไกติดตามเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อมั่นใจว่าผู้พ้นโทษหรือได้รับการพักโทษเหล่านี้สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้