'ซาบีน่า' ชูกลยุทธ์ เรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง หวังทวงคืนยอดขายโตกว่าปี 62
ตลาดชุดชั้นในกระทบตั้งแต่มกราคม หลังโควิดระบาดรอบใหม่ลากยาว ซาบีน่า ปรับตัวต่อ ลุยสินค้าใหม่ราคาต่ำ จูงใจลูกค้าซื้อไม่ต้องรอโปรโมชั่น ชูกลยุทธ์เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง ปลุกยอดขาย สานภารกิจฟื้นธุรกิจเติบโตกว่าปี 62
นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2564 บริษัทพยายามผลักดันยอดขายให้กลับไปเติบโตมากกว่าปี 2562 ซึ่งมียอดขายกว่า 3,200 ล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 400 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดต่ำลงที่ 2,900 ล้านบาท และกำไรสุทธิราว 276 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตจะมุ่งมั่นทำตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาด จะเน้นให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆทันที หรือ Real time Marketing ล่าสุดมีการปัดฝุ่นแคมเปญแจกประกันให้กับผู้บริโภคที่มีความกังวลการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงร่วมกับอาคเนย์ประกันภัย เพิ่มประกันดังกล่าว จากก่อนหน้านั้นมีเพียงประกันโรคโควิด-19 หากชอปปิงชุดชั้นในครบตามเงือนไข
นอกจากนี้ ยังเกาะกระแสซีรีย์แนนโน๊ะ ด้วยการกระตุ้นการขายซิลิโคนปิดจุก เนียนโน๊ะรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น อาจไม่ต้องการสวมใส่ชุดชั้นในตลอดเวลา แต่ไม่อยากโป๊เช่นกัน รวมถึงการผนึกกับพันธมิตร เช่น เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์ ออกสินค้าสำหรับหยดใส่หน้ากากผ้าหรือแมสก์ดร็อป เพิ่มความสดชื่นเมื่อสวมหน้ากากป้องกันไวรัส เป็นต้น
“เราคาดหวังจะผลักดันยอดขายให้เติบโตได้มากกว่าปี 2562 ส่วนการเติบโตจากปี 2563 มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งขณะนี้บริษัทต้องลุ้นสถานการณ์ไตรมาส 3-4 อีกครั้ง แต่มั่นใจว่าในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนมากขึ้น”
ส่วนการออกสินค้าใหม่ ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นสินค้าที่ราคาเหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป้าหมาที่เงินในกระเป๋าน้อยลง สามารถจับจ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการจัดโปรโมชั่น มอบส่วนลด พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าขยายจุดจำหน่ายสินค้า เข้าถึงกลุ่มเป้าหมมายมากขึ้น ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น แต่จะออกมาซื้อสินค้าอาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ต จึงนำชุดชั้นในไปจำหน่ายใกล้พื้นที่ดังกล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออฟไลน์ทุกจุด ทั้งห้างค้าปลีกต่างๆ ช้อป รวมถึงร้านค้าทั่วไปจำนวน 566 จุด ไตรมาส 1 ปิดร้านไป 12 จุด แต่แนวโน้มในอนาคตยังคงรักษาช่องทางดังกล่าวสร้างการเติบโตของรายได้ แต่จะมีการเปลี่ยนหรือโยกย้ายทำเลไปให้ลูกค้ามากขึ้น
ส่วนช่องทางออนไลน์ขยายหน้าร้านสู่มาร์เก็ตเพลส ทำตลาดผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 1 สามารถสร้างยอดขาย 145 ล้านบาท เติบโต 45% และมีสัดส่วนยอดขาย 22% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างเร็ว เพราะเป้าหมาย 5 ปี จะมีสัดส่วนรายได้ 25% ขณะเดียวกันจะรุกขยายการส่งออกชุกชั้นในบุกตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามหรือซีแอลเอ็มวี และฟิลิปปินส์เพิ่ม รวมถึงการรับจ้างผลิต ซึ่งตลาดอังกฤษฟื้นตัวกลับมาแล้ว หลังประเทศมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ประชาชน จนเกิดความมั่นใจและออเดอร์สินค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน กระแสเงินสดและสินค้าคงเหลือ(สต๊อก)ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้นทุนคงที่ปีนี้คาดว่าจะลดลงด้วย หลังจากพนักงานเย็บชุดชั้นในยังคงลาออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ขับรถส่งอาหารหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ 200-300 คน จากปีก่อนออกไปราว 600 คน
“เราเป็นบริษัทที่จ่ายโบนัสให้พนักงาน และไม่ได้ลดเงินเดือนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แต่มีการบริหารจัดการทำงานล่วงเวลาหรือโอทีมากขึ้น ซึ่งเดือนเมษายนที่ผ่านมากลับมาเพิ่มโอทีให้พนักงาน เพราะไม่ต้องการให้เลิกงานแล้วไปเตร็ดเตร่ตลาดนัด พื้นที่เสี่ยงติดโรคระบาด”
สำหรับภาพรวมไตรมาส 1 บริษัทมียอดขาย 672 ล้านบาท ลดลง 1.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะผลกระทบจากโควิดเกิดตั้งแต่มกราคม ส่วนปีที่แล้วกระทบแค่ครึ่งหลังเดือนมีนาคม ส่วนกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท เติบโต 11.3% เพราะประคับประคองค่าใช้จ่ายดี เช่น การตลาด จะเน้นออนไลน์ ทำเมื่อคำนวณการแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีจึงใช้จ่าย