ศรีตรัง หยุดการผลิต3 วันไม่กระทบสถานการณ์ยาง
กยท. มั่นใจ บ.ศรีตรังฯ หยุดการผลิตชั่วคราวในโรงงานสาขาตรัง-สุราษฎร์ฯ 3 วัน ไม่กระทบสถานการณ์ยาง ชี้ ปริมาณยางไม่ถึง 2 พันตัน และยางเพิ่งเริ่มฤดูเปิดกรีดยังออกสู่ตลาดไม่มาก
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน สาขาตรัง และ สาขาสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28-30 พ.ค. 2564 เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกกับพนักงานทุกคนและทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรงงาน หลังพบพนักงานบางส่วนติดเชื้อโควิด-19
สถานการณ์ดังกล่าว กยท. ประเมินแล้วพบว่า ไม่ส่งผลกระทบกับสถานการณ์ยางพารา เนื่องจากการปิดโรงงานเฉพาะที่สาขา จ.ตรัง และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวลารวม 3 วัน เมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำยางที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตของวันที่ปิดไปนี้ ไม่ถึง 2,000 ตัน
โดยการผลิตถุงมือยาง 1 คู่ ใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบเพียง 32 กรัมเท่านั้น ประกอบกับช่วงนี้ผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย เนื่องจากเพิ่งเริ่มฤดูเปิดกรีดยาง และฝนที่ตกชุก รวมถึงการขาดแคลนแรงงานกรีดยางในพื้นที่ จึงไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด
"ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะมีการรับซื้อและส่งมอบล่วงหน้ากันอยู่แล้ว อีกทั้งการขายที่มีสัญญา ผู้ประกอบการต้องส่งมอบตามกำหนดเวลา ดังนั้นผลกระทบด้านจิตวิทยาสั้นๆอาจจะมีบ้างแต่หากเข้าใจตลาดจะไม่มีอะไรน่ากังวล"
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการรับมือสถานการณ์โควิด 19ระบาด กยท.ได้มอบผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับรักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
โดยนางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กล่าวว่า กยท. มีงานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยเหลือทางด้านการแพทย์หลายงานด้วยกัน ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผลิตจากยางพารา สามารถช่วยให้การรักษาดีขึ้น เกิดความสะดวกขึ้น เนื่องจากยางพาราเป็นวัสดุมีความยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับน้ำหนักหรือซัพพอร์ตได้มาก และระบายความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ การนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์เพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการนำอุปกรณ์จากต่างประเทศที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ พลาสติก และวัสดุอื่น ๆ ที่มีราคาแพง สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณของอุปกรณ์ให้มีเพียงพอในการใช้งาน โดยเฉพาะในนี้สถานการณ์ที่วิกฤตเร่งด่วน เพื่อให้ทางการแพทย์สามารถช่วยเหลือคนได้เพิ่มและทันเวลายิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา กยท. ได้วิจัยและผลิตอุปกรณ์รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ทางการแพทย์หลายชิ้น ตั้งแต่อุปกรณ์สำหรับฝึกหมอ พยาบาล เช่น แผ่นเย็บ หุ้นจำลองสำหรับการฝึกเจาะหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติในขาของผู้ป่วย และ หุ่น CPR (หุ่นฝึกช่วยชีวิต) ตลอดจนแผ่นรองยางเท้าสำหรับคนที่มีปัญหาจากอาการรองช้ำ ซึ่งในตอนนี้ กยท. เน้นวิจัยและผลิตอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือ ช่วยชีวิตสำหรับสนับสนุนให้สถานพยาบาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยในช่วงที่เกิดวิกฤต
“กยท. กำลังเร่งงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดโควิด-19”
ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าเช่น หมอน ที่นอนยางพารา ซึ่ง กยท. ส่งมอบแก่โรงพยาบาลหลายแห่งแล้ว จากนี้ไปจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและร่วมสร้างผลงานนวัตกรรมจากยางพาราสู่การแพทย์ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ประโยชน์ที่ได้รับอีกประการคือ การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากด้วย
ด้าน พ.ต.จรัสพรรษ วงศ์วิเศษกาญจน์ พยาบาลปฏิบัติการขั้นสูง กองเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับมอบจาก กยท. เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดีได้แก่ผลิตภัณฑ์หมอนยางที่ช่วยลดการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยโควิด-19 และเจลยางพาราใช้สำหรับประคบให้ความเย็นเพื่อลดไข้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์หมอนยาง เนื่องจากยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถระบายความร้อนได้ดี มีความหนาแน่นที่เหมาะสม สามารถกระจายแรงกดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องนอนคว่ำเป็นเวลานาน จึงช่วยลดปัญหาการเกิดแผลกดทับกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่ กยท. นำมามอบให้ทางโรงพยาบาลฯ เหล่านี้ ทางโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในส่วนของห้อง ICU ของโรงพยาบาลต่อไป