ส.อ.ท.เผย ‘ซีอีโอโพลล์' ระลอก 3 ฉุดธุรกิจเจ็บหนัก
ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ 'ซีอีโอ’ โพลล์ ห่วงระลอก 3 ฉุดธุรกิจได้รับผลกระทบหนักกว่าปีที่แล้ว ห่วงติดเชื้อแรงงานในสถานประกอบการ แนะใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน หนุนบริโภคฟื้นเศรษฐกิจ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 หัวข้อ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจเอสเอ็มอี” ในเดือน พ.ค.2564 ที่ได้จากการสำรวจกรรมการ ส.อ.ท. 170 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ FTI Poll มีผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่าการระบาดในปี 2563 คิดเป็น 89.4% รองลงมามองว่าได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับปี 2563 คิดเป็น 5.3% และน้อยกว่าปี 2563 คิดเป็น 4.1%
ส่วนผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีจากการระบาดระลอกใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ห่วงความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็น 91.2% รองลงมาขาดสภาพคล่องจากการหยุดกิจการ คิดเป็น 74.1% และความต้องการสินค้าและบริการลดลง คิดเป็น 67.1%
สำหรับมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีของภาครัฐที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่ามีประสิทธิภาพช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบเอสเอ็มอี 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น คนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็น 71.2% รองลงมาเป็นมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือฝั่งละ 2.5% เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็น 64.7% และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 คิดเป็น 61.8%
ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่ารัฐต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเอสเอ็มอีเพิ่ม 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟและค่าสาธารณูปโภค 30% คิดเป็น 59.4% รองลงมาลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการและค่าส่วนกลางศูนย์การค้า พื้นที่เช่าโรงงานลง 50% โดยผู้ให้เช่านำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีรอบบัญชีถัดไป คิดเป็น 55.3%
ถัดไปเป็นการขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและเร่งคืนเงินภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มให้เอสเอ็มอีที่ส่งออก ภายใน 15 วัน และการอนุญาตให้นิติบุคคลเอสเอ็มอีร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ มีผู้ตอบเท่ากันที่ 53.5%
FTI Poll ได้เจาะลึกกรณีภาครัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ว่าควรนำเงินดังกล่าวไปใช้เรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ คิดเป็น 74.1% รองลงมาช่วยเหลือเยียวยาให้ประชาชนและผู้ประกอบการ คิดเป็น 70.6% และแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 คิดเป็น 65.9%
ขณะที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.ประเมินว่าจากแผนการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติช่วงใด โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2565 คิดเป็น 37.1% รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 คิดเป็น 23.5% อีกทั้งมองว่าเงินกู้ไม่พอกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็น 21.8% และคาดว่าเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติปลายปี 2564 คิดเป็น 17.6%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า จากการพิจารณาผล FTI Poll พบว่าสิ่งที่เอสเอ็มอีเป็นห่วงที่สุด คือ การขาดสภาพคล่องเพราะระลอก 3 รุนแรงกว่าครั้งแรกมาก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวไตรมาส 1 ปี 2566 หรืออีก 1 ปีครึ่ง ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่เหลือสายป่ายพยุงธุรกิจต่อ
“ความเห็นส่วนตัวมองว่าสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ การปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำพยุงธุรกิจเอสเอ็มอีเร็วที่สุดและเข้าถึงได้ง่ายไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ตั้งแต่การระบาดรอบแรกแต่ปล่อยกู้ได้เพียง 1.5 แสนล้านบาท เพราะทุกธนาคารกังวลหนี้สูญ”
รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ยิ่งขาดความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันเป็น 40% แต่ธนาคารยังไม่มั่นใจเพราะหากเกิดหนี้เสียต้องใช้เวลานานในการฟ้องร้อง และกระทบการดำเนินธุรกิจเพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องดูแลผลประกอบการให้ดีด้วย
สำหรับการช่วยเหลือรอบนี้รัฐบาลควรหามาตรการจูงใจหรือมาตรการอื่นให้ธนาคารปล่อยเงินกู้เอสเอ็มอีมากที่สุด หรือใช้แนวทางสหรัฐที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ อนุมัติวงเงิน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 9 แสนล้านบาท ช่วยเหลือภัตตาคารร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ 2 แสนแห่ง โดยพิจารณาจากการเสียภาษีย้อนหลังช่วงก่อนโควิด-19 มาคำนวณวงเงินช่วยเหลือแต่ไม่เกินรายละ 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการและคงการจ้างงาน เพราะไม่ใช่ภาวะปกติจึงต้องใช้วิธีพิเศษมาช่วยเหลือ
“รัฐบาลไทยควรใช้แนวทางนี้จ่ายเงินโดยตรงช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุงแรง พิจารณาวงเงินช่วยเหลือจากยอดการจ่ายภาษีในช่วงปกติก่อนโควิด และตั้งเพดานวงเงินสูงสุด เพื่อกระจายให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีประคองธุรกิจต่อได้จนถึงช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว”