วัดใจหลังฟื้นฟูนกแอร์ “จุฬางกูร” พร้อมเดินต่อธุรกิจการบิน ?
วัคซีนความหวังของทุกธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังประเทศไทยประกาศ “วีเดย์” (Vaccine-day ) ปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาและให้ครบ 70 % ของประชากรทั้งประเทศด้วยวัคซีน 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564
การบริหารจัดการจะสามารถทำได้ถึงเป้าหมายแค่ไหนยังต้องอาศัยการบริหารและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ แต่สัญญาณบวกต่อการเดินหน้าลดการแพร่ระบาดของทั้งประชาชน รัฐบาล จนไปสู่แนวโน้มการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องอย่างจังหวัดภูเก็ตทำให้จุดประกายความหวังให้กับธุรกิจท่องเที่ยว
โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินเผชิญสถานการณ์รายได้หายไปนานถึง 1 ปี จนรายใหญ่ยังประคองตัวเองไม่อยู่ ขาดทุนอย่างหนัก ไม่มีเม็ดเงินใช้ชำระหนี้ มาเพิ่มเติมสภาพคล่องทำให้สุดท้ายเข้าสู่กระบวนการล้มละลายจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
วันนี้สายการบินนกแอร์ หรือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOKภายใต้ผู้บริหารและเจ้าของกลุ่ม “จุฬางกูร ” ถือหุ้นมากถึง 74 % ถือว่าเป็นสายการบินล่าสุดที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายในการประชุมเจ้าหนี้ในเดือนส.ค. 2564 เพื่อขออนุมัติแผนชำระหนี้เพื่อดำเนินการกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ
ก่อนหน้านี้นกแอร์เผชิญปัจจัยลบจำนวนผู้โดยสารลดลงไม่ต่างจากสายการบินอื่นๆ จากการการระบาดที่ลากยาวและเกิดขึ้นหลายระลอก ทำให้ผู้บริหารดำเนินการตัดค่าใช้จ่ายและยุบธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนึ่งนั้นคือการ “ยกเลิกกิจการนกสกู๊ต” (29 ก.ค.2563)
“นกสกู๊ต” ถูกวางเป็นสายการบินที่ให้บริการเส้นทางต่างประเทศระยะไม่ไกล และนกแอร์เน้นเส้นทางในประเทศ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดทำให้ต้องประคองธุรกิจที่ขาดทุนนี้มาตลอด จนทำให้เงินสดจากการดำเนินธุรกิจติดลบ อัตรากำไรขั้นต้นติดลบหนักถึง 10 % จนนำไปสู่การขาดทุนต่อเนื่องปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท มียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 5,276 ล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน 5 เท่า
เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวไม่มีทิศทางฟื้นตัวทำให้อีก 3 เดือนถัดมา (27 ต.ค.2563) ได้ยื่นแผนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาล ด้วยฐานะทางการเงิน ณ ไตรมาส 3 และงวด 9เดือน ปี 2563เป็นงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 4,827.74 ล้านบาท ลดลงถึง 47.68 %
ด้วยสถานการณ์การบินหยุดชะงักทำให้ต้นทุนการบินปรับตัวลดลงแต่บริษัทยังต้องรับรู้ผลขาดทุนที่ ยังไม่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน 656.11 ล้านบาท บันทึกดอกเบี้ยค่าเช่าเครื่องบิน 462.65 ล้านบาท และบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดอีก1,446.02 ล้านบาท ทำให้ขาดทุน 2,598.71 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทได้รับรู้ผลขาดทุนจากการเลิกกิจการของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ทำให้ส่วนผลขาดทุนที่ เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 3,935.96 ล้านบาท
ด้านหนี้สิ้นมีทั้งสิ้น 26,238.57 ล้านบาท แบ่งเป็นเจ้าหนี้และตั๋วเงิน 3,811 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้สินหมุนเวียน 19,288 ล้านบาทและหนี้สินไม่หมุนเวียน 6,949 ล้านบาท ท่ามกลางส่วนทุนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,514 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 14,964 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ทำให้ นกแอร์ มีโอกาสประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้คือการมีกลุ่มทุนใหญ่กลุ่มเดียวและยังเป็นกลุ่มทุนเจ้าหนี้ส่วนหนึ่งของนกแอร์ 2,700 ล้านบาททำให้การเจรจากับเจ้าหนี้เกิดขึ้นเดือน ส.ค.มีโอกาสสูงที่จะผ่านไปได้
และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น NOK กลับมาทำการซื้อขายช่วง 1 เดือน (2มิ.ย.-2 ก.ค.) จากราคาสุดท้ายที่ 1.09 บาท (1มี.ค. 2563) สามารถปรับตัวบวกได้ทันทีถึง 100 % ไปทำราคาสูงสุดที่ 2.80 บาท ต่ำสุดที่ 1.27 บาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาล่าสุดถึง 156 %
หุ้น NOK กลายเป็นหุ้นที่พลิกฟื้นตัวตามธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มกลับมามีความหวัง พร้อมกับการปรับโครงการใหญ่จนทำหุ้นมีโอกาสกลับมาทำการซื้อขายได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับกลุ่ม “จุฬางกรู” ว่ายังเพิ่มพันธมิตรเข้ามาทำธุรกิจหรือกุมสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ต่อไป