‘คนละครึ่งเฟส 3’ รัฐทุ่ม 9.3 หมื่นล้าน. เดิมพันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
โครงการคนละครึ่งเฟสที่ 3 เปิดลงทะเบียน - ยืนยันสิทธิ์ เริ่ม 14 เม.ย. ดึงรายใหม่เข้าโครงการ 16 ล้านคน รวมรายเดิมผู้มีสิทธิ์กว่า 31 ล้านคน วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท "เดิมพัน"กระตุ้นกำลังซื้อ-เศรษฐกิจฐานรากครึ่งปีหลัง
เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2564 เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้มากนักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมายังไม่คลี่คลายลงยอดผู้ป่วยใหม่ยังสูงกว่าวันละ 2,000 ราย มีผู้เสียชีวิตระดับ 20 - 40 รายต่อวันเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้
ภาวะของเศรษฐกิจในปัจจุบันแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก หากแต่แรงงานที่อยู่ในภาคส่วนอื่นๆที่มีมากกว่าทั้งภาคการท่องเที่ยวและแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)จำนวนไม่น้อยตกงานถูกเลิกจ้างและรายได้ลดลงซึ่งหากภาครัฐคาดหวังว่าจะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในกรอบ 1.5 - 2.5% ต้องใช้มาตรการการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศซึ่งมาตรการสำคัญที่รัฐบาลจะใช้ในช่วงครึ่งปีหลังคือมาตรการ “คนละครึ่งเฟส 3” ที่ใช้วงเงินมากถึง 9.3 หมื่นล้านบาท
มาตราการคนละครึ่งเฟส 3 จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 14 มิ.ย. (ตั้งแต่เวลา 6.00 - 22.00 น.)ที่จะถึงนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ได้รับสิทธิ์เดิมจำนวน 15 ล้านราย ซึ่งต้องกดยืนยันการใช้สิทธิ์ และกลุ่มผู้ที่จะสมัครใหม่อีก 16 ล้านรายที่ต้องสมัครในเว็บไซด์ WWW.คนละครึ่ง.com รวมผู้มีสิทธิ์ในเฟสที่3 รวม 31 ล้านราย
โดยการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือน 1 ก.ค. - 31 ธ.ค. 2564 โดยภาครัฐจะโอนเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ทางบัญชีแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ 2 งวดครั้งละ 1500 บาท งวดที่ 1 ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท
งวดที่ 2 ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท
กระทรวงการคลังระบุว่าโครงการนี้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 1.86 แสนล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนที่รัฐบาลโอนให้กับประชาชนวงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ฯตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 9.3 หมื่นล้านบาทมาจากการสมทบจ่ายของประชาชนในโครงการนี้ ซึ่งจะทำให้ในช่วงที่เหลือของปีมีเงินหมุนเวียนลงไปช่วยร้านค้าขนาดกลางและขนาดย่อย ทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมีความคึกคักได้มากขึ้น
โครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่ใช้ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและประคองกำลังซื้อของประชาชนเพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลเติมเงินให้และประชาชนร่วมใช้จ่ายโดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลได้ใช้โครงการนี้รวม 3 ระยะใช้เม็ดเงินรวมกว่า 145,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในระยะที่ 1 3 หมื่นล้านบาท โครงการในระยะที่ 2 2.25 หมื่นล้านบาท และโครงการในระยะที่ 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท
ในช่วงที่มีการออกมาตรการโครงการคนละครึ่งในระยะ 1 - 2 วงเงินรวมกันประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ 0.3% ซึ่งในระยะที่ 3 มีการเพิ่มวงเงินและขยายขนาดของโครงการให้ครอบคลุมประชากรถึง 31 ล้านคนทั่วประเทศใช้วงเงินรวมกว่า 9.3 หมื่นล้านบาทจะช่วยเพิ่มจีดีพีได้อีกเท่าตัว
อย่างไรก็ตามแม้โครงการคนละครึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างชื่อให้กับรัฐบาลมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลายๆโครงการที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นโครงการสุดปังถูกใจผู้ซื้อ โดนใจร้านค้า
แต่การใช้เม็ดเงินในรอบนี้สูงถึง 9.3 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 3 เท่าของโครงการคนละครึ่งในเฟสที่ 1 รัฐบาลต้องมีกลไกทั้งการผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จทั้งในจำนวนของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกในการป้องกันการทุจริตในโครงการอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เม็ดเงินจำนวนนี้ซึ่งเปรียบเสมือน “เดิมพัน” ในการขับเคลื่อน - กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการนี้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด