แผนแก้ปัญหาภัยแล้ง“อีอีซี” ปรับ23เหมืองเก่าเก็บกักน้ำ
ปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกจะเกิดขึ้นทุกครั้งในปีที่ปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด รวมทั้งยังทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และรัฐบาลได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเติบโตของ อีอีซี และไม่ให้โครงการนี้สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่
แนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ในระยะสั้น สามารถดำเนินการได้ทันที และใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด ก็คือการนำขุมเหมืองแร่ หรือเหมืองแร่เก่าที่หมดอายุสัมปทาน มาจัดทำเป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสำรองน้ำใช้ในช่วงที่มีภัยแล้ง
วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ให้ความเห็นว่า จากการสำรวจของกรมฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่ามีปริมาณแหล่งน้ำสำรองจากขุมเหมืองในพื้นที่ อีอีซี และจังหวัดใกล้เคียงมีความสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 6.25 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
โดย ขุมเหมืองแร่ที่มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำของภาคตะวันออกจะมีอยู่ใน 5 จังหวัด จำนวน 23 แห่ง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 3 แปลง มีปริมาณน้ำขุมเหมืองประมาณ 18,400 ลบ.ม. จังหวัดชลบุรี จำนวน 9 แปลง มีปริมาณน้ำขุมเหมืองประมาณ 3,301,300 ลบ.ม. จังหวัดระยอง มีจำนวน 5 แปลง ปริมาณน้ำขุมเหมืองประมาณ 1,807,000 ลบ.ม. จังหวัดปราจีนบุรี มีจำนวน 4 แปลง ปริมาณน้ำขุมเหมืองประมาณ 1,017,600 ลบ.ม. และจังหวัดสระแก้ว จำนวน 2 แปลง มีปริมาณน้ำขุมเหมืองประมาณ 113,600 ลบ.ม.
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำขุมเหมืองข้างต้นเป็นปริมาณน้ำจากขุมเหมืองที่ได้ทำการสำรวจในเบื้องต้น และจำเป็นจะต้องทำการสำรวจศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การตรวจวัดคุณภาพน้ำว่ามีความเหมาะสมปลอดภัยในการนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ปริมาณความต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำของชุมชนใกล้เคียง ความยินยอมของผู้ประกอบการในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากน้ำขุมเหมืองกรณีที่ประทานบัตรยังไม่สิ้นอายุ การประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการระบบสูบน้ำและลำเลียงน้ำ เป็นต้น
“ส่วนใหญ่เหมืองแร่ในภาคตะวันออกจะเป็นเหมืองหินอุตสาหกรรม ที่มีความปลอดภัยในการกักเก็บน้ำอยู่แล้ว แต่เพื่อความปลอดภัย และความมั่นใจของประชาชน กรมฯ จะต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำและความเสี่ยงด้านธรณีวิทยาต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านที่นำน้ำไปใช้มีความมั่นใจเต็มที่ ซึ่งหลังจากที่ กพร. เข้าไปตรวจสอบแล้วในแต่ละบ่อจะใช้เงินลงทุนเพิ่มประมาณ 1 ล้านบาท ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า การวางท่อ และการติดตั้งโซลาร์เซลผลิตไฟฟ้าใช้ในการสูบน้ำ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์การบริหารส่งนตำบล (อบต.)ในระยะยาว”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ อีอีซี ที่มีประมาณ 2-3 พันล้าน ลบ.ม. ต่อปี จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำจากขุมเหมืองที่มีอยู่เพียงประมาณ 6.25 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณที่จะต้องทำการสำรวจประเมินศักยภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และ พัฒนาเพื่อให้สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไปนั้น น้ำขุมเหมืองจึงน่าจะเป็นเพียงแหล่งน้ำสำรองกรณีเกิดภัยแล้ง หรือเป็นแหล่งน้ำถาวรสำหรับภาคการเกษตรในชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำเท่านั้น รวมทั้งหากต่อท่อส่งน้ำไปไกลจากขุมเหมืองก็จะมีต้นทุนสูง แต่ทั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งสำรองน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง ป้องกันการแย่งชิงน้ำกับภาคอุตสาหกรรม ส่วนในอนาคตมีเหมืองหินขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรีหลายแห่งจะหมดอายุสัมปทาน และอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน สามารถวางท่อน้ำเชื่อมถึงกันได้ ทำให้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง
วิษณุ กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่อื่นๆนั้น ที่ผ่านมา กพร. ได้ทำการสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ขุมเหมืองทั่วประเทศเบื้องต้น พบว่า ในอดีตมีการนำน้ำขุมเหมืองไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้บ้างแล้ว เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา เป็นต้น ผลการสำรวจพบว่า มีพื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 143 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำดิบรวมทั้งสิ้นประมาณ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปัจจุบัน กพร. ได้ส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำน้ำจากขุมเหมืองแร่ไปใช้เพื่อการอุปโภค การเกษตรกรรม แหล่งประมง จนประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบได้ เช่น ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยการดำเนินการที่ผ่านมา กพร. มีบทบาทหลักในการสนับสนุนทางด้านข้อมูลวิชาการและการประสานการดำเนินงานกับชุมชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่งบประมาณในการดำเนินการเป็นการสนับสนุนจากเงินทุนของผู้ประกอบการเหมืองแร่เป็นหลัก จึงทำให้การนำน้ำจากขุมเหมืองไปบรรเทาปัญหาภัยแล้งกระจุกอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น
ดังนั้น กพร. จึงมีแผนที่จะพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจัดทำฐานข้อมูลของขุมเหมืองทั่วประเทศ โดยสำรวจ ตำแหน่งที่ตั้งของขุมเหมืองเพิ่มเติม ปริมาณน้ำ ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน อีกทั้งยังสำรวจ ความคุ้มทุนในการก่อสร้างระบบสูบ สภาพอุตุอุทกวิทยา และความต้องการการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงเพื่อใช้ในการบริหารจัดการนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์ในระยะยาวอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
นอกจากนี้ กพร. จะออกแบบระบบสูบน้ำที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น