อสังหาฯแก้เกมโควิดเลื่อนงานอีเวนท์ ชูแพลตฟอร์มเวอร์ชวลขยายฐานลูกค้า
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังลุกลามในวงกว้าง ผู้ประกอบการต้องมองหาตัวช่วย หรือแพลตฟอร์มทางเลือกในการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะการจัดงานขาย งานเทรดแฟร์ต่างๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ
วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า วิกฤติโควิดระลอก 3 ค่อนข้างรุนแรงในไตรมาส 2 นี้ ทำให้ภาพตลาดรวมยอดขายบ้านในสมาคมรับสร้างบ้านลดลง 10% ขณะที่ลูกค้าขอเลื่อนการก่อสร้างไปก่อนจากที่จองไว้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ทำให้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านตัดสินใจเลื่อนจัดงาน “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021”ครั้งที่ 2 จากกำหนดต้นเดือน ส.ค. ไป วันที่ 6-10 ต.ค.แทน ซึ่งเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” ครั้งแรกไปแล้ว
“สถานการณ์โควิดยังคงความรุนแรง ประกอบกับสถานที่จัดงาน เมืองทองธานี ได้ดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนามจนถึงเดือน ส.ค. จึงมองว่าหากจัดในช่วงเวลาเดิมคงไม่มีคนอยากมาเดิน ต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายและยุติการทำโรงพยาบาลสนามก่อน จึงขยับเวลาไปเดือนต.ค . ซึ่งน่าจะเหมาะสมเพราะมีการฉีดวัคซีนปูพรม”
เมื่อคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนโควิด มี “ภูมิคุ้มกันหมู่” เชื่อว่าจะมีความมั่นใจในการออกมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ รวมถึงมีความต้องการสร้างบ้านอีกครั้ง เป็นห้วงเวลาเดียวกับแผน “เปิดประเทศ” ตามแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแนวโน้มผู้คนจะเริ่มออกมาใช้ชีวิต เดินทางท่องเที่ยวตามปกติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนจัดงาน “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” ครั้งที่ 2 ในเดือน ต.ค. สมาคมฯ ใช้งบประมาณ 3-4 ล้านบาท ลงทุน พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจัดงานรับสร้างบ้านในรูปแบบของ “เอ็กซิบิชั่นเสมือนจริง” หรือ เวอร์ชวลอีเวนท์ ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค. รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในช่วงเกิดโรคระบาด ผู้คนทำงานที่บ้านใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ให้สามารถคลิกเข้ามาร่วมชมงานตามบูธของบริษัทรับสร้างบ้านได้เพื่อดูโมเดลบ้าน มีวีดิโอของแต่บริษัทเสมือนการเดินมาในงานจริง พร้อมทั้งแชทคุยกับพนักงานของบริษัทรับสร้างบ้านนั้นๆ ได้แบบเรียลไทม์!
“วิกฤติโควิดทำให้โลกเปลี่ยนไป เราไม่รู้ว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านได้มาพบปะกับลูกค้าและตอกย้ำว่าโรคระบาดไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจได้”
การจัดงานรับสร้างบ้านในรูปแบบของ “เวอร์ชวลอีเวนท์” ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่อายุน้อยลง ให้เข้ามาดูเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนที่ตัดสินสร้างบ้านในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 25-45 ปี ขณะที่งานรับสร้างบ้านในรูปแบบ “ออฟไลน์” เป็นกลุ่มอายุ 35-60 ปีขึ้นไป
แพลตฟอร์มดังกล่าว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการขยายฐานลูกค้าในอนาคต! เป็นผลจากวิกฤติโควิด-19 เป็น “ตัวเร่ง” ให้ทุกคนต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอด! ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ช่วยเก็บเกี่ยวยอดขาย
“ข้อดีของเวอร์ชวลอีเวนท์ผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ต้นทุนต่ำกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่จัดงาน เฉลี่ยครั้งละ 10 ล้านบาท ขึ้นไป ที่สำคัญสามารถขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น เพราะครอบคลุมทั่วประเทศ ลูกค้าเลือกดูได้หลายบริษัทในครั้งเดียวโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง”
ทั้งนี้ ปกติงานรับสร้างบ้านแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลา 4-5 วัน มีผู้ที่สนใจเข้ามาเดินชมงานประมาณ 1 หมื่นคน สร้างยอดสะพัดเฉลี่ย 2,000-2,500 ล้านบาทต่อครั้ง หากเป็นงานรับสร้างบ้านในรูปแบบของเวอร์ชวลอีเวนท์ผ่านออนไลน์ ช่องทางใหม่ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากและครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าภายใน 10 วันของการจัดงานจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน แม้แต่ละคนที่เข้ามาเยี่ยมชมอาจไม่ใช่คนที่ตัดสินใจสร้างบ้านเหมือนผู้ที่มาเดินในงานออฟไลน์ ซึ่งมีความตั้งใจเดินทางมาดูก่อนตัดสินใจสร้างบ้าน ฉะนั้นตัวเลขยอดขายจากช่องทางออนไลน์ที่จัดขึ้นครั้งแรก คาดว่าไม่เกิน 50% ของยอดขายในงานออฟไลน์
อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 7-10 ต.ค. จัดงานที่รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน ต้องติดตามสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด เพื่อชั่งน้ำหนัก! ก่อนตัดสินใจจัดต่อหรือไม่?
“หากตัดสินใจผิดเหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เงินทองหายากแต่ใช้ง่าย ทุกคนก็ต้องระมัดระวังตัว”
แต่หากสถานการณ์เป็นไปตามกำหนดเปิดประเทศภายใน 120 วัน เชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าจัดงานอีเวนท์ได้ตามปกติ รวมถึงงานของสมาคมฯ ในเดือน ต.ค. ซึ่งเวลานั้นหากมีการระบาดหนักก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
"น่าเป็นห่วงว่า ปีที่ผ่านมาผู้คนยังใช้จ่าย แต่ปีนี้ชะลอการใช้จ่าย เพราะได้เรียนรู้มาปีหนึ่งแล้ว ดังนั้นปีที่ 2 จึงไม่กล้าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทำให้บรรยากาศเวลานี้เงียบกว่าปีก่อน”