'คนละครึ่งเฟส 3' ต้องเติมเงินเข้า 'เป๋าตัง' กี่บาท? ใช้ไม่หมดโดนตัดไหม?
ทีมข่าวต่อสายด่วนไปยังศูนย์ช่วยเหลือ "คนละครึ่งเฟส 3" เพื่อหาคำตอบว่าในการ "เติมเงิน" ก่อนใช้สิทธิคนละครึ่งนั้น ต้องเติมกี่บาท? ถ้าเติมเงินเกินแล้วใช้ไม่หมด จะโดนตัดเงินใน G-wallet แอพฯ "เป๋าตัง" หรือไม่?
นับถอยหลังอีกเพียง 2 วัน ก็จะเริ่มการใช้สิทธิในโครงการ "คนละครึ่งเฟส 3" ในวันที่ 1 ก.ค. 64 นี้แล้ว มีหลายคนที่เพิ่งจะใช้สิทธิในโครงการนี้เป็นครั้งแรก อาจจะยังมีสงสัยในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องวิธีการใช้จ่ายเงิน และการเติมเงินเข้าแอพฯ "เป๋าตัง"
หลายคนรู้แล้วว่าจะต้อง "เติมเงิน" เข้าไปใน G-wallet ของแอพฯ "เป๋าตัง" เสียก่อน จึงจะใช้จ่ายตามสิทธิได้ แต่ก็ยังสงสัยว่าจะต้องเติมเงินกี่บาท? แล้วถ้าใช้ไม่หมดจะทำยังไง? เรื่องนี้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์หาคำตอบมาให้แล้ว ดังนี้
เติมเงินเข้า "เป๋าตัง" รวดเดียว 3,000 บาท หรือทยอยเติมก็ได้
วันนี้ (29 มิ.ย.) เวลาประมาณ 13.30 น. ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้ต่อสายไปยัง "ศูนย์ช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" การลงทะเบียน และการใช้งานแอพฯ เป๋าตัง" เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่กรุงไทยคอลเซ็นเตอร์ ในประเด็นเกี่ยวกับการเติมเงินเข้าแอพฯ "เป๋าตัง" โดยเจ้าหน้าที่ปลายสายได้ตอบคำถามให้ทั้ง 2 คำถาม ดังนี้
1. ถาม : "เติมเงิน" เข้า G-wallet ในแอพฯ "เป๋าตัง" ต้องเติมเงินกี่บาท?
ตอบ : ผู้มีสิทธิในโครงการ "คนละครึ่งเฟส 3" สามารถเติมเงินเข้าไปใน G-wallet แอพฯ "เป๋าตัง" ได้รวดเดียวเลย 3,000 บาท เป็นเงินในส่วนที่เราจะต้องจ่ายเอง 50% ตลอดโครงการ จากนั้นจะมีเงินที่รัฐจ่ายให้อีก 50% หรืออีก 3,000 บาท โอนเข้ามาให้ในแอพฯ "เป๋าตัง" แต่จะเป็นการแบ่งโอนให้ 2 ครั้งๆ ละ 1,500 บาท คือ
- ช่วง ก.ค. - ก.ย. 2564 รอบแรก จำนวน 1,500 บาท
- ช่วง ต.ค. - ธ.ค. 2564 รอบที่สอง จำนวน 1,500 บาท
หรือผู้มีสิทธิจะทยอย "เติมเงิน" เป็นรายวัน วันละ 150 บาทก็ได้ ก็เข้าหลักการเช่นเดียวกัน คือ ประชาชนจ่ายเอง 150 บาทต่อวัน และรัฐร่วมจ่ายให้อีกไม่เกิน 150 บาทต่อวัน รวมเป็นใช้จ่ายได้ไม่เกิน 300 บาทต่อวันนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. ถาม : ถ้าเติมเงินใส่ "เป๋าตัง" เกินไว้แล้วใช้ไม่หมด จะถูกตัดเงินไหม?
ตอบ : ไม่ถูกตัดเงิน ในส่วนที่เป็นเงินเรา 50% ไม่ใช่เงินรัฐ หมายความว่า หากเติมเงินเข้าแอพฯ เป๋าตังไว้ 4,000 บาท แต่ตลอดโครงการมีการใช้จริงไปเพียง 3,000 บาท จึงมีเงินเหลือในแอพฯ เป๋าตัง 1,000 บาท เงินที่เหลือส่วนนี้สามารถโอนคืนไปที่บัญชีธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอื่นๆ ของเราได้เลย
แต่หากเป็นเงินในส่วนของรัฐ ที่โอนเข้ามาให้เพื่อร่วมจ่าย 50% ในส่วนนี้ไม่ใช่เงินเรา ดังนั้นหากถึงวันหมดเขตโครงการแล้วใช้ไม่หมด ก็จะถูกตัดสิทธิไป ไม่ได้คืน
รู้วิธีเติมเงินใส่แอพฯ "เป๋าตัง" ทำได้ 3 วิธีนี้
- วิธีที่ 1 : เติมเงินผ่าน Mobile Banking (แอพฯ ธนาคารต่างๆ)
การเติมเงินเข้า "เป๋าตัง" ผ่าน Mobile Banking จะต้องเลือกที่เมนูชื่อแอพพลิเคชั่นธนาคาร (หมายเลข 1 ตามภาพ) จากนั้นจะมี รหัส G-Wallet ID สำหรับเติมเงิน 15 หลัก โชว์ขึ้นมา แล้วทำตามขั้นตอนอื่นๆ ดังนี้
1. กดคัดลอก รหัส G-Wallet ID 15 หลัก
2. เมื่อกดคัดลอกรหัสแล้ว ให้เปิดแอพพลิเคชั่นที่เป็น Mobile Banking ที่ต้องการเติมเงิน ก่อนไปที่เมนู "เติมเงิน" จากนั้นเลือก "เติมเงินพร้อมเพย์" หรือ "E-Wallet" หรือบางธนาคารใช้ชื่อเมนูว่า "PromtPay e-Wallet"
3. นำรหัส G-Wallet ID ที่คัดลอกไว้แล้วไปวางในช่อง E-Wallet ID และใส่จำนวนเงินที่ต้องการเติม และคลิกเติมเงินตามปกติ เป็นอันเรียบร้อย
- วิธีที่ 2 : เติมเงินผ่าน QR code พร้อมเพย์
1. เลือกเมนู "เติมเงินเข้า G-Wallet"
2. เลือกธนาคารที่ต้องการเติมเงิน
3. เลือกเมนู "QR พร้อมเพย์" (หมายเลข 2 ตามภาพ)
4. กดบันทึกรูป QR พร้อมเพย์ ลงในโทรศัพท์มือถือ
5. เปิดแอพพลิเคชั่นธนาคารที่มีเพื่อเติมเงิน โดยเลือกเมนู "สแกน" หรือ "สแกนจ่าย"
6. คลิกกดที่ปุ่มรูปภาพ เลือก QR พร้อมเพย์ ที่บันทึกไว้ในมือถือของคุณ แล้วใส่จำนวนเงินที่ต้องการและทำการเติมเงินปกติ
- วิธี 3 : เติมเงินผ่านตู้ ATM
สามารถเติมเงินเข้า "เป๋าตัง" เพื่อใช้ในโครงการ "คนละครึ่ง3" ผ่านตู้ ATM ได้หลากหลายธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาตทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ แต่ละธนาคารจะมีขั้นตอนการเติมเงินผ่านตู้ ATM แตกต่างกันไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาให้ดู 1 ธนาคาร โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกชำระเงิน/เติมเงิน
2. เลือกประเภทบัญชี (ออมทรัพย์/ฝากประจำ)
3. เลือกเติมเงินพร้อมเพย์
4. ระบุหมายเลขรหัส G-Wallet ID 15 หลัก พร้อมระบุจำนวนเงินที่ต้องการเติม
5. ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วกด "ยืนยัน" เพื่อสิ้นสุดการทำรายการ