'สุพัฒนพงษ์' ปลุกพลังข้ามวิกฤติ ชู 4 แผนดันเศรษฐกิจหลัง 'โควิด'
“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจรัฐบาลรับมือโควิด ชี้ปีนี้ลงทุนฟื้นเท่าก่อนโควิด ภาคเอกชนเห็นโอกาสลงทุนหลังมีวัคซีนเพิ่ม ชูแผน 4D ฟื้นเศรษฐกิจระยะยาว “กุลิศ” ดัน กฟผ.-ปตท.ลงทุนหนุเศรษฐกิจ
การสัมมนา “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” จัดโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรุงเทพธุรกิจ วานนี้ (15 ก.ค.) ผ่านระบบซูมได้ระดมความเห็นภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” ว่า ปี 2564 แม้จะมีระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจัดหาวัคซีนได้เพิ่มขึ้นและฉีดวัคซีนได้มากขึ้นทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนเติบโตชัดเจน
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุน ครึ่งปีแรกของปี 2564 ใกล้เคียงยอดทั้งปี 2563 และคาดว่าทั้งปี 2564 จะมากกว่าปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด-19 จะระบาด และปี 2564 เชื่อว่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะเป็นบวกในรอบหลายปี โดยส่วนใหญ่ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งหากส่งเสริมได้ตามแผน เช่น คลาวด์เซอร์วิส ดาต้าเซ็นเตอร์ จะเพิ่มจีดีพีได้ 0.7–0.8%
ขณะที่การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นไปตามแผนและอยู่ระหว่างการทำจัดหลักเกณฑ์เจรจาดึงการลงทุนการผลิตรถ EV และแบตเตอรี่ เพื่อให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค
มั่นใจ“ไทยชนะ”วิกฤติ
"ต้องบอกว่าเวลาอยู่ข้างเรา เพราะไทยมีวัคซีนทุกเทคโนโลยี เมื่อกระจายการฉีดมากขึ้น ในที่สุดเราจะชนะ ภาคธุรกิจเห็นว่าโควิด-19 ในที่สุดต้องจบลงจึงเชื่อมั่นลงทุนมากขึ้น ในปีนี้เห็นตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนแล้วเพิ่มขึ้นงมาก โดยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ แม้เศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว 2.6% แต่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในรอบ 5 ไตรมาส ซึ่งทำให้การลงทุนปีนี้มีทิศทางเป็นบวก”
นอกจากนี้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยารวดเร็วเมื่อมีคำสั่งล็อคดาวน์หรือปิดกิจการจาก ศบค. โดยช่วยเหลือผลกระทบจากการหยุดยั้งการระบาดควบคู่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็พอประคองเศรษฐกิจได้ระยะหนึ่ง ส่วนมาตรการเพิ่มเติมจะหารือภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ และยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้ได้
4 แนวทางดันไทยเข้มแข็ง
สำหรับแนวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 อยู่บนแนวทาง “4D” ที่ไทยมีโอกาสและศักยภาพเติบโต ได้แก่
1.Digitalization คือ การส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2.Decarbonization การเน้นส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การผลิตอีวีในประเทศ ซึ่งกำหนดเป้าหมายระยะสั้นผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ในปี 2030 ขณะที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นต้องปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ซึ่งการประชุมของกลุ่มประเทศ G7 ล่าสุดนั้นให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประเทศขนาดใหญ่ที่ไทยจะดึงบริษัทชั้นนำมาลงทุนในไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน
3.Decentralization โมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดเคลื่อนย้ายฐานการผลิตหรือกระจายฐานมาไทยมากขึ้น
4.D-risk การใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ โดยเราจะดึงดูดให้ผู้มีรายได้สูง และทักษะสูงในกลุ่มอาชีพต่างๆมาอยู่ในไทยในระยะยาวและมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 โดยตั้งเป้ามีต่างชาติมาอาศัยในไทยเพิ่มอีก 1 ล้านคน และใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
“กุลิศ”ยืนยันดูแลราคาพลังงาน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในเสวนาหัวข้อ “เปิดแผน...เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากกลุ่มโอเปกพลัส ยังไม่บรรลุข้อตกลงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปี 2563 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ล่าสุด 74.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปัจจุบันไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเช่นเดิม โดยหากราคาปรับสูงขึ้นเกินเพดานดังกล่าว ก็จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้าไปดูแลทันที ส่วนค่าไฟฟ้ามีการดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรึงค่าเอฟทีถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ยกเว้น Minimum Charge ถึง ธ.ค.ปี 2564
กฟผ.-ปตท.ลงทุนดันเศรษฐกิจ
นายกุลิศ กล่าวว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสลงทุน ซึ่งรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ กฟผ. และปตท.เป็นเครื่องยนต์ของรัฐที่มีประสิทธิภาพลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย BCG Economy โดยกระทรวงพลังงานมีกลไกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน
ขณะที่ ปตท.และ กฟผ.ร่วมผลักดัน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการปลูกพืชพลังงานและสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้า โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์แรก จะประกาศผลเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ระยะสั้น ปตท.และ กฟผ.เร่งลงทุนเพื่อจ้างงานนักศึกษาจนใหม่ 28,000 คน ช่วงวิกฤติและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาระบบท่อส่งก๊าซ ระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อก่อจ้างงานและการลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจชดเชยลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอ
เตรียมประเทศให้พร้อมรับลงทุน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งหากวันนี้ ไทยไม่มีโควิดเชื่อว่า การลงทุนจะเข้าสู่ไทยจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งแก้ความยาก–ง่ายในการทำธุรกิจ (อีส ออฟ ดูอิ่ง บิสซิเนส) โดยปรับกฎเกณฑ์ภาครัฐจากการกำกับดูแลมาเป็นการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร การนำเข้า-ส่งออก ควรแก้ไขให้ทันสมัย
อย่างก็ตาม ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ตั้งทีมงาน 5 คณะ เพื่อมาร่วมแก้ไขปัญหากับภาครัฐทั้งเรื่องรักษาด้านเยียวยาและป้องกัน ซึ่งเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาในอนาคต เพราะมองว่าเรื่องของวัคซีนและการระบาดยังอีกยาวต้องเตรียมพร้อมอยู่ร่วมกันไม่เสียหายไปมากกว่านี้
มั่นใจหลังวิกฤติเข้มแข็งขึ้น
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจอัมพาตไปครึ่งตัว เพราะ 3 เสาหลัก ภาคการผลิต ท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่มีความเชื่อมโยงกันโดยตรงได้รับผลกระทบหนักเมื่อภาคหนึ่งกระทบจะเป็นโดมิโนเอฟเฟคท์กับ 2 ภาคที่เหลือ
เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ต่างชาติกลับเข้ามาเยือนไทยจากนั้นเชื่อว่าภาคเอกชนจะเดินหน้าจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อจะเกิดขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจไทยฟื้นตัวกลับมา และเดินเครื่องได้เกิน 100%
“หากเราผ่านวิกฤติซ้อนวิกฤติครั้งนี้ไปได้จะแข็งแรงยิ่งขึ้นประเทศไทยมีความพร้อมหลายอย่าง อยู่ในท็อปส์อินดัสทรีระดับโลก โดยเฉพาะรีเทล เราอยู่ใน ท็อป 10-15ไม่ธรรมดา เราพยายามพลิกตัวเอง ซ้อมอย่างเต็มที่ เมื่อโลกเปิดน่าจะเป็นแต้มต่อที่ดี”
ต่างชาติเริ่มเที่ยวไทยชัดไตรมาส 4
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) กล่าวว่า ถ้าคุมการระบาดได้ดีและเร็ว การกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผน จะทำให้คนไทยมั่นใจเที่ยวอีกครั้ง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นพื้นที่ไหนพร้อมก็ทยอยเปิด และจะเริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปีหน้า โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ ททท.คงเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 100 ล้านคน-ครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ล้านคน สร้างรายได้รวม 8.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4-5% จากปีที่แล้ว ส่วนปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ตลาดในและต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% ของรายได้ปี 2562 ซึ่งปิดที่ราว 3 ล้านล้านบาท
“มอบให้สำนักงาน ททท.ในต่างประเทศทำการตลาดเพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่อยู่ในใจนักท่องเที่ยว อีกสิ่งสำคัญ คือ การวิเคราะห์คู่แข่งเพราะแม้มีโควิดแต่ประเทศต่างๆ ไม่หยุดทำตลาด”
TDRI แนะหาวัคซีนระยะยาว
นายนนริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจต้องเพียงพอและครอบคลุมผู้เดือดร้อน และภาครัฐไม่ควรมีเงื่อนไขมากเพราะกิจการที่ถูกปิดถือว่าเสียสละ ซึ่งวงเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ต้องมาดูว่าจะเยียวยาเพิ่มอย่างไร
นอกจากนั้นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องวางแผน คือ การจัดหาวัคซีนที่นอกจากต้องหามาใช้สำหรับการระบาดระลอก 4 ซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น จะต้องวางแผนถึงการจัดหาวัคซีนในระยะต่อไป เพราะในทางวิชาการเริ่มพูดกันมากขึ้นว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลที่ระบาดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนวัคซีนระยะยาวเพราะต้องฉีดทุกปี