ส.อ.ท. นำร่องสมุทรสาคร ยกระดับ รพ.สนาม เป็นสีเหลืองเข้มรักษาผู้ป่วยโควิด-19
โรงพยาบาลสนาม ส.อ.ท. แห่งที่ 10 ยกระดับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จากสีเขียวเป็นสีเหลืองเข้มแห่งแรกใน จ.สมุทรสาคร มุ่งเน้นรูปแบบใกล้เคียง ICU มากที่สุด รองรับสูงสุด 200 คน พร้อมส่งเสริมโรงงานทำมาตรการ Bubble and Seal
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่ ส.อ.ท. ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 ขึ้นบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียง 28 วัน ซึ่งปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้พิจารณายกระดับให้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองเข้ม
โดยปรับรูปแบบจากโรงพยาบาลสนามเดิมให้ใกล้เคียงกับห้อง ICU มากที่สุด เพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมโรงพยาบาลสนามสภาอุตสาหกรรมฯ มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วยอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ปอด เครื่องวัดค่าออกซิเจนในปอด ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพบปะกับผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวยังสามารถให้แพทย์และผู้ป่วยพูดคุยกันได้ผ่าน Application อีกด้วย
จึงทำให้การปรับรูปแบบเป็น ICU ในครั้งนี้มีการปรังปรุงโครงสร้างเพิ่มเติมหลักๆ คือ การวางระบบจ่ายออกซิเจนทั้งอาคาร และติดตั้งถังออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) ขนาด 5,000 ลิตร ซึ่งหากมีผู้ป่วย 200 คนรักษาตัวอยู่ จะสามารถใช้ถังออกซิเจนนี้ได้ 3-4 วันต่อถัง
การปรับปรุงในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากนายอุดม ไกรวัฒนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มาให้บริการในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ คือทีมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย แพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 12 คน และทีมพยาบาลจากจังหวัดกาญจนบุรี 3 คน รวมทั้งทีมหลักที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาครมาร่วมปฏิบัติงานด้วย
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการและสมาชิกจัดทำมาตรการ Bubble and seal ในโรงงาน ที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องปิดโรงงาน พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในรูปแบบ Community Isolation ในโรงงาน ที่รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ยกตัวอย่างในนิคมอุตสาหกรรมสินสาครในจังหวัดสมุทรสาครที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation: FAI) ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการภายในนิคมฯ มีจำนวนเตียงเพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 10%
ซึ่งการทำ Factory Quarantine ในจังหวัดสมุทรสาคร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงงานน้อยกว่า 10% ให้ดำเนินการจัดทำ FAI แต่หากเกินกว่า 10% โรงงานจะต้องการ Bubble & Seal พร้อม FAI
โดยมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1) จัดเตรียมสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับการทำ FAI 2) ส่งข้อมูลการจัดทำ FAI ไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร 3) ส่งภาพการจัดทำ FAI ที่เรียบร้อยแล้วให้สำนักงานสาธาณสุขจังหวัดสมุทรสาคร
4) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครนัดหมายสถานประกอบการประเมินผ่านระบบ Video Conference โดยให้นำตรวจสถานที่แบบ Real Time ผ่านระบบ Video Conference 5) เมื่อผ่านการประเมิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครจะจัดทำใบรับรองส่งให้
และ 6) ดำเนินงานตามมาตรการ Bubble & Sealed กรณีที่โรงงานสุ่มตรวจและพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน โดยการจัดการระบบดูแล ลดการกระจายเชื้อสู่ภายนอก จำนวน 28 วัน
ส.อ.ท. ยังได้จัดตั้ง “กองทุน ส.อ.ท. สู้ภัยโควิด-19” ภายใต้มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของจำเป็น อาทิ ห้องความดันลบแบบประกอบเคลื่อนย้ายได้ (Modular Unit) , “ชุดจัดทำห้องความดันลบแบบติดตั้งถาวร (Non-Mobility), ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Antigen Test Kit), เมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรและกล่องห่วงใยจากใจ ส.อ.ท.
ส่งมอบกับให้สถานพยาบาลนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 จึงขอเชิญร่วมบริจาคเงินได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทยสาขาไทยเบฟควอเตอร์ (ใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ส.อ.ท. หมายเลข 1453 ทุกปัญหาอุตสาหกรรมมีคำตอบ