'เศรษฐพุฒิ' ชี้ดาวน์ไซด์เศรษฐกิจไทยเริ่มจำกัด ชู 3 ปัจจัยแกร่ง
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มองความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจจากโควิด-19 เริ่มจำกัด ชี้ไทยมีความทนทานต่อภาวะวิกฤตสูง สะท้อนจากเงินทุนประเทศที่อยู่ในระดับสูง ระบบธนาคารพาณิชย์-ฐานะการคลังแข็งแกร่ง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน "Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal" จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากโควิด-19 และคาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาค อันเนื่องมาจากรายได้ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงราว 11-12% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีความทนทาน (Resilient) ต่อภาวะวิกฤตที่สูง และมองความเสี่ยงขาลง (ดาวน์ไซด์) จากโควิด-19 เริ่มจำกัดแล้ว โดยมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศที่แข็งแกร่ง (Strong External Position) สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูง 280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.2 ล้านล้านบาท) ขณะที่หนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดยยกตัวอย่างการอ่อนค่าของเงินบาทราว 10% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ภายหลังการท่องเที่ยวของไทยหดตัว
อย่างไรก็ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลที่ราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท) และยังมีกระแสเงินจากส่วนอื่นเข้ามาหนุน แม้ว่ากระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) จะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ราว 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.2 หมื่นล้านบาท)
2. ความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 20% และระดับเงินตั้งสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่ามูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อีกทั้งภาคการเงินยังสามารถดำเนินการได้ท่ามกลางวิกฤต สะท้อนจากการเติบโตของทุกกลุ่มสินเชื่อ
และ 3. ความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน แม้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับขึ้นในช่วงภาวะวิกฤตเช่นเดียวกับทุกประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 50% ต่อจีดีพี แต่เป็นระดับที่ยอมรับได้ และรัฐบาลยังมีช่องว่างในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น โดยมีช่องทางการระดมทุนอื่นๆ เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.7% หรือต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของหลายประเทศ
"จากภาคการคลังที่แข็งแกร่ง ต้นทุนการระดมทุนที่ยังต่ำของประเทศ และสภาพคล่องในระบบที่ยังสูง ดังนั้น แม้ไทยจะถูกกระทบหนักจากโควิด-19 และหนักกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งการฟื้นตัวคาดว่าจะใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นๆ เช่นกัน รวมถึงมีปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละอุตสากรรม แต่เราทองดาวน์ไซด์จากวิกฤตเริ่มจำกัดแล้ว"