เด็กติดโควิดทั่วโลกเพิ่มขึ้น ความท้าทายที่รออยู่
มาวันนี้เมื่อสถานการณ์โควิดในเด็กเสี่ยงรุนแรงขึ้น รัฐจึงควร เตรียมมาตรการและทรัพยากรที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียให้ได้มากสุด !
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนเด็กติดโควิดเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) พบสถิติน่าสนใจ ดังนี้
- ตั้งแต่มีโควิด สัดส่วนเด็กติดเชื้ออยู่ที่ 15% ของผู้ติดเชื้อรวม
- ในช่วงสัปดาห์เดียว 12-19 ส.ค. 2021 มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 180,175 คน หรือคิดเป็น 22.4% ของผู้ติดเชื้อใหม่ มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15%
- และเมื่อดูจำนวนผู้ติดเชื้อเด็กรายสัปดาห์ ยิ่งน่ากังวล เพราะย้อนกลับไป 4 สัปดาห์ก่อนหน้า มีเด็กติดเชื้อใหม่สัปดาห์ละ 38,000 คนเท่านั้น แต่ผ่านไป 4 สัปดาห์ เพิ่มจากเดิมถึง 4 เท่า
สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้น มีอย่างน้อย 4 ข้อ
1. เด็กไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ติดง่าย ปัจจุบันอายุต่ำสุดที่รับวัคซีนได้คือ 12 ปี
2. สายพันธุ์เดลตาทำให้การระบาดเร็วขึ้น จากข้อมูลในอังกฤษ เดลตาแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 60%
3. ผู้ติดเชื้อใหม่เกิดจากการติดในบ้านเพิ่มขึ้น เด็กกลายเป็นผู้รับเชื้อ
4. เนื่องจากผู้ใหญ่ที่ได้วัคซีนแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้น สัดส่วนผู้ติดเชื้อเด็กจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากจำนวนเด็กติดเชื้อจะเพิ่ม คุณหมอหลายคนยังให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอาการป่วยในเด็กรุนแรงขึ้น เช่น Dr Allison Ross Eckard (Professor of Pediatrics and Medicine) จาก Medical University of South Carolina ให้ความเห็นว่า มีสัญญานบางอย่างแสดงว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้เด็กที่รับเชื้อ เสี่ยงป่วยหนักกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า มีเด็กที่ยังไม่ได้วัคซีนป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น ปอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่
Dr Elizabeth Mack (Medical Director of Pediatric Critical Care Medicine) จาก Medical University of South Carolina ที่ระบุว่า แม้กระทั่งเด็กที่แข็งแรงหรือสุขภาพดี ก็เสี่ยงป่วยหนักจากโควิดได้
ผลกระทบจากจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เพิ่มขึ้น อาการรุนแรงขึ้น เสี่ยงทำให้ระบบสาธารณสุขสำหรับรองรับผู้ป่วยเด็กไม่เพียงพอ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้ในการดูแลรักษาเด็กเล็กยังยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพิ่มภาระการดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์
ทั้งนี้ เด็กกลุ่มเสี่ยงป่วยหนักหากได้รับเชื้อ ได้แก่ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน (BMI มากกว่า 25) เบาหวาน หอบหืด มะเร็ง โรคทางพันธุกรรม มีความปกติทางระบบประสาท มีความผิดปกติที่ปอด หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
ในแง่ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ มีการศึกษาในอเมริกา พบว่าเด็กจากครอบครัวยากจน พ่อแม่มีข้อจำกัดในการทำงาน งานที่ทำอยู่ไม่สามารถ work from home ได้ ไม่มีประกันสุขภาพ ที่พักอาศัยไม่สามารถเว้นระยะห่าง เด็กจากครอบครัวกลุ่มนี้มีอัตราการป่วยหนักสูงกว่า
จากสถานการณ์โควิดในเด็กที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีนัยสำคัญเชิงนโยบายและความท้าทายต่อไทยอย่างน้อย 3 ประการ
1.รัฐบาลควรรีบจัดหาวัคซีนที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้มีอายุน้อย ปัจจุบันมี Pfizer ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในเด็กอายุ 12-15 ปี ขณะที่ Moderna ได้รับการรับรองให้ฉีดในเด็ก 12-17 ปี นอกจากนี้สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี รัฐบาลควรมีแผนจัดซื้อล่วงหน้า เพราะปัจจุบันหลายบริษัทกำลังวิจัย เช่น Pfizer กำลังศึกษาในเด็กอายุ 6-11 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับรองให้ใช้แบบฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีภายในสิ้นปี 2021 และสำหรับเด็กอายุ 2-4 ปีภายในต้นปี 2022
2.การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในเด็ก สร้างความท้าทายต่อการจัดการศึกษา การให้เด็กกลับไปเรียนที่โรงเรียน รัฐบาลควรเตรียมมาตรการรองรับ ทั้งกรณีถ้าให้เด็กไปโรงเรียน จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร ถ้าไปแล้ว มีเด็กติดเชื้อหรือคลัสเตอร์ใหม่ จะรับมืออย่างไร
3.ตราบใดที่รัฐไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้เด็กได้ครอบคลุม รัฐควรมีมาตรการดูแลเด็กทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว และเด็กจากครอบครัวที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม
เด็กคืออนาคตของชาติ คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นดวงใจของทุกครอบครัว ที่ผ่านมาการบริหารจัดการวัคซีนและทรัพยากรในสถานการณ์โควิดไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กมากนัก เพราะมีกลุ่มอื่นที่เร่งด่วนกว่า มาวันนี้เมื่อสถานการณ์โควิดในเด็กเสี่ยงรุนแรงขึ้น รัฐจึงควร เตรียมมาตรการและทรัพยากรที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียให้ได้มากสุด