ตลท.พัฒนาแพลตฟอร์ม เปิดทาง SMEs ใช้ใบแจ้งหนี้ระดมทุน
ตลท.เผย อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มระดมทุนใหม่ เปิดช่องบริษัทเล็กที่เป็นคู่ค้าบจ.นำใบแจ้งหนี้ เข้ามาระดมทุน หวัง เติมสภาพคล่องธุรกิจขนาดเล็ก คาดนักลงทุนให้ความสนใจ เหตุความเสี่ยงอิงกับการจ่ายหนี้คืนของบจ.ขนาดใหญ่
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มลงทุนใหม่เพื่อเปิดให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สามารถนำใบแจ้งหนี้ (Invoice) มาระดมทุนในลักษณะของหุ้นกู้ระยะสั้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปบริหารสภาพคล่องได้ดีมากยิ่งขึ้น จากเดิมต้องรอลูกหนี้ที่เป็นบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายคืนหนี้ตามสัญญาที่ระบุ 2-3 เดือนเป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเข้าไปมีบทบาทเป็นตัวกลางในการรวมผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุนและเสนอขาย Invoice บนแพลตฟอร์มกลาง
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นธุรกิจ SMEs จะเป็นผู้นำ Invoice ที่ได้มาระดมทุนบนแพลตฟอร์ม แต่เงินที่ได้จากการระดมทุนจะมีส่วนลดที่ต้องหักเป็นดอกเบี้ยเพื่อจ่ายคืนให้แก่นักลงทุน เช่น Invoice มูลค่า 100 บาท บริษัทจะได้เงินจากการระดมทุน 98 บาท เป็นต้น โดยคาดว่านักลงทุนจะให้ความสนใจทั้งในแง่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนระยะสั้น และความเสี่ยงของ Invoice ที่อิงกับการจ่ายคืนหนี้ของบจ.ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือบนแพลตฟอร์มผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย
ขณะที่การเปิดให้ระดมทุนจริงจะต้องหารือกับ ธปท.และสมาชิกผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยโครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ภายหลังประสบความสำเร็จในการพัฒนากระดานหุ้น SMEs (SME Board) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาระดมทุนได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2564 จากปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่และกลาง
นายภากร กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าบจ.ไทยสามารถปรับตัวได้ดี โดยมีการปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับโลกวิถีใหม่ (New Normal) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงวิธีการทำงาน รวมถึงมีการบริหารสภาพคล่องผ่านการช่วยเหลือธุรกิจใน Supply Chain