ลุ้นเปิดกรุงเทพฯบูมWorkation ดึงดีมานด์ต่างชาติพยุงอสังหาฯ
แผนเปิด“กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดวันที่ 15 ต.ค.นี้ ผนวกกับที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมือง “Workation” เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนที่สุดในโลกปีนี้ ทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาฯตื่นตัว!! หวังดึงเม็ดเงินชาวต่างชาติกระตุ้นตลาด
“สุพินท์ มีชูชีพ ”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จากปี 2563 ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องปีนี้ ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ และบรรดานักลงทุนอยู่ในโหมด “Wait & See” เป็นส่วนใหญ่เพื่อรอดูสถานการณ์โควิด โดยจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจเกิดอาการชะงักงัน!
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 4 นี้วิกฤติโควิดน่าจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล และแผนเปิด “กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์” ในเดือน ต.ค.
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลักที่นักลงทุนต่างชาติหรือผู้ซื้อต่างชาติสนใจจะเข้ามาอยู่ หากเปิดเมืองจากทำให้เกิดการไดร์ฟดีมานด์ในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มากขึ้น”
จากปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงสร้างโอกาสให้เกิดความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะ "รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นแบบไฮบริด" ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยใน 1 สัปดาห์อาจจะทำงานที่ออฟฟิศ 3 วัน อีก 2 วันทำงานที่บ้าน ทำให้มองหาบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ตอบโจทย์
"กลุ่มดิจิทัลโนแมด” ทำงานได้ทุกที่เป็นไลฟ์สไตล์เทรนด์ยุคนิวนอร์มอลที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอีคอมเมอร์ซ หรือโปรเจคที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ ซึ่งกำลังขยายตัว “กลุ่มกิ๊ก อีโคโนมี” ที่ประกอบอาชีพอิสระสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูง มีอิสระมากกว่างานประจำ และพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงาน ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลส์ในช่วงที่ผ่านมา
“กลุ่มซีเนียร์ลิฟวิ่ง” ที่ชื่นชอบประเทศไทยเพราะค่าครองชีพต่ำ ไลฟ์สไตล์ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดดีมานด์ในการซื้อคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น และ “กลุ่มที่นิยมเช่ามากกว่าซื้อ” ในกลุ่มนักการทูต นักธุรกิจต่างชาติที่ทำงานในหลาย ๆ ที่
“เราหวังว่าจะเป็นไปตามแผน จะทำให้มีผู้ที่สนใจเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนชาวจีนต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยเนื่องจากเห็นว่าราคาลดต่ำลงมากแล้ว เป็นราคาที่จูงใจซื้อ”
“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า แนวโน้มกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์คนไทยค่อนข้างชะลอตัวลงในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เหตุกระทบหนักคือการล็อกดาวน์ที่มีระยะเวลายาวนานทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับตัวเลขของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
“ปัจจัยลบในตลาดมีมาก ทำให้คนที่มีเงินออมในแบงก์พอสมควรก็ชะลอการซื้อไปก่อน ดีเวลลอปเปอร์ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งปีแรกหลังเผชิญโควิดระลอก 3-4 ที่มีคนติดเชื้อมากกว่าหมื่นคนต่อวัน ทั้งการปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือนทำให้การก่อสร้างล่าช้า มีผลต่อการโอนตามไปด้วย จำนวนแรงงานส่วนหนึ่งหายไปจากระบบ ดังนั้น กำลังซื้อจากต่างชาติจึงเป็นตัวช่วยในการพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดี!!”
ปัจจุบันชาวต่างชาติให้ความสนใจอสังหาริมทรัพย์ไทยมากขึ้น สังเกตได้จากยอดการเข้าชมเว็บไซต์ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีการเข้าชมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 31% และกลุ่มคนต่างชาติที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยมากที่สุดคือ “จีน” จากข้อมูลพบว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นตัวเลือกลำดับ 2 มีสัดส่วน 21% รองจาก ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 22% อันดับ 3 สหรัฐ และ มาเลเซีย มีสัดส่วน 12% เท่ากัน
ชาวจีน นิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยเพราะได้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 5% มากกว่าผลตอบแทนในจีนที่ได้เพียง 2% นอกจากนี้คนจีนยังชื่นชอบวัฒนธรรมไทยเป็นพิเศษอีกด้วย
อีกประเด็นที่เป็นแรงผลักดันให้ดีมานด์ของคนจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย คือ นโยบาย “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common Prosperity กระจายความมั่งคั่งไม่ให้รวยกระจุก ด้วยการให้เศรษฐีจีนต้องตอบแทนสังคมมากขึ้น กระตุ้นให้เศรษฐีจีน หรือคนที่มีรายได้สูงออกมาลงทุนต่างประเทศมากขึ้น สอดรับกับการที่รัฐบาลไทยออกมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาลงทุนในไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ที่ชาวจีนส่วนใหญ่คุ้นเคย
กมลภัทร แนะนำว่า การดึงกำลังซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะ “จีน” นั้น มี 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1.สร้างการรับรู้ผ่านคนจีน 2. ใช้อินฟลูเอนเซอร์คนจีนเพื่อเชื่อมความไว้ใจ 3.ใช้สื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะวีดีโอ ไลฟ์สด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ 4.สร้างแบรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานลูกค้าระยะยาว และ 5. ใช้ Pull Marketing เพื่อปิดดีล! ด้วยการโปรโมทสินค้าผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา ส่งเสริมการขาย เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้า