‘สทท.’ จี้รัฐปลดล็อกข้อจำกัด หนุน ‘ไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์’ สำเร็จ!

‘สทท.’ จี้รัฐปลดล็อกข้อจำกัด หนุน ‘ไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์’ สำเร็จ!

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 ประเทศไทยจะมีรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 16,826.82 ล้านบาท ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 280,447 คน ลดลง 95.81% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 6.7 ล้านคน

โดยในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40,000 คน ขณะที่ไตรมาส 4 คาดมี 200,000 คน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. เล่าว่า คาดการณ์ดังกล่าวประเมินจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึงในจังหวัดท่องเที่ยวที่ต้องการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม ล้วนส่งผลต่อ “ความเชื่อมั่น” ในการท่องเที่ยว

สทท.จึงอยากเสนอให้ภาครัฐปลดล็อกเงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ดังนี้ 1.ลดความยุ่งยากซับซ้อนของการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) ด้วยการเพิ่มช่องทางขอ COE ผ่านบริษัทนำเที่ยว เนื่องจากการเปิดประเทศในช่วงแรกๆ บริษัทนำเที่ยวจะเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบเรียลไทม์ 2.กำหนดคู่มือมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ (SOP) ให้เหมือนกันทุกพื้นที่ เพื่อลดความสับสนของนักท่องเที่ยว

3.ลดค่าตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งหากนักท่องเที่ยวพำนักในไทยถึง 14 วัน กำหนดให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 8,000 บาท จึงอยากให้ปรับลดค่าใช้จ่าย ด้วยการเปลี่ยนมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และตรวจด้วย ATK Test ในครั้งที่เหลือแทน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเหลือประมาณ 2,500 บาทเท่านั้น 4.ใช้ชื่อโครงการเปิดเมืองลงท้ายด้วยคำว่า “แซนด์บ็อกซ์” เหมือนกันทุกพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการประชาสัมพันธ์

และ 5.จัดแคมเปญแรงๆ สนับสนุนการเปิดประเทศ ผลักดันให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปีนี้ถึง 2.8 แสนคนตามคาดการณ์ หลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสเพิ่มอีก 10 จังหวัด ในวันที่ 1-30 พ.ย.นี้

 

“อย่างไรก็ตามหากไม่เร่งกระจายวัคซีนและปลดล็อกมาตรการที่เป็นอุปสรรค การจะได้เห็นยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.8 แสนคนในปีนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องลำบาก”

การเร่งควบคุมการระบาดของโควิด-19 การออกแคมเปญสนับสนุนเดินหน้าการเปิดเมือง และการลดอุปสรรคข้อจำกัดเหล่านี้จึงเป็นอนาคตที่ สทท.อยากเห็นใน “ไทยแลนด์ แซนด์บ็อกซ์” ตั้งแต่ไตรมาส 4 นี้เป็นต้นไป

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจาก ศบค. เห็นชอบให้ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสเหลือ 7 วัน นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ยังไม่เพียงพอ! เพราะการจะทำให้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” อีก 3 แสนคนในไตรมาส 4 นี้ ต้องแก้ไขความยุ่งยากซับซ้อนของการยื่นขอ COE ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวบ่นกันมาก การลดวงเงินประกันสุขภาพที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐลง รวมถึงยกเลิกกฎหากนักท่องเที่ยวนั่งบนเครื่องบินใกล้กับผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้คนไม่เกี่ยวข้องถูกเหมารวมต้องเข้ากักตัวไปด้วย ตลอดจนปรับลดการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และเปลี่ยนไปใช้ ATK ในการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 แทน

ด้านมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. และนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า หากตลอดปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 280,447 คนตามที่ สทท.คาดการณ์ จะน่าวิตกมากว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะอยู่รอดได้หรือไม่! ส่วนที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการร่วมจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 3 เดือนมองว่าน้อยเกินไป เพราะในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้วิกฤติโควิด-19 จะยังทำให้ภาคท่องเที่ยวตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

อ่านข่าว : ศบค. กางแผน "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ เปิด 10 จังหวัด

ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ด้าน “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2564” ซึ่งจัดทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สทท. พบว่าลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นฯมา!! โดยอยู่ที่ระดับ 7 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 200 (คะแนน 100 คือปกติ) สะท้อนถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 29 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้มาก แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด เพราะตราบใดที่คะแนนยังต่ำกว่าระดับ 50 ถือว่าอยู่ในขั้น “โคม่า”

“ในไตรมาส 3/2564 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปิดบริการเพียง 51% ลดลงจากไตรมาสก่อน 7% ส่วนที่ปิดกิจการชั่วคราวมี 44% เพิ่มขึ้น 6% และปิดกิจการถาวร 5% เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ 84% ของสถานประกอบการมีพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง โดยมีแรงงานที่ออกจากระบบไปมากถึง 71% ประมาณ 3.05 ล้านคน ทั้งที่ต้องหยุดงานชั่วคราว ถูกเลิกจ้างถาวร และเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น จากเดิมก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ที่มีอยู่ 4.3 ล้านคน”

อีกทั้ง 54% ของสถานประกอบการไม่มีรายได้เข้ามาเลย! โดยเฉพาะสถานบันเทิง 100% สวนสนุกและธีมพาร์ค 94% บริษัทนำเที่ยว 93% ธุรกิจนวดและสปา 86% ธุรกิจบริการขนส่งนักท่องเที่ยว 68%