"บีโอไอ" หนุนผลิตแรงงานทักษะสูง งัด 3 เครื่องมือ ดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าไทย
"บีโอไอ" เร่งเตรียมความพร้อมด้าน "คน" พัฒนาแรงงานทักษะสูง จับมืออว.ผลิตวิศวะปีละ 2 หมื่่น พร้อมเตรียม 3 เครื่องมือดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าทำงานในไทย ด้าน "ทีดีอาร์ไอ" หวังรัฐดันมาตรการจริงจังดึงFDI เพิ่ม
แนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยในอุตสาหกรรมต่างๆมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาชัดเจนล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) รับทราบตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย.) อยู่ที่ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท และคาดว่าการขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7แสนล้านบาท
การจูงใจให้เกิดการลงทุนนอกจากมาตรการทางภาษี มาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจเข้ามาลงทุนมีอีกหลายส่วน ซึ่งรวถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่อง "คน" และอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าในการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย บีโอไอให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน นอกเหนือจากมาตรการด้านสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนสำหรับการพัฒนาบุคลากร
โดยขณะนี้บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเตรียมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม 20,000 คนต่อปี และร่วมมือกับสำนักงานอีอีซี เพื่อ Reskill และ Upskill แรงงาน อีกทั้งยังมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่าน 3 เครื่องมือ คือ
1.การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
2.มาตรการ Smart Visa เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคลากรทักษะสูง รวมทั้งอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติแล้วกว่า 900 คน จำนวนอาจจะดูไม่มาก แต่เป็นกลุ่มคนคุณภาพสูง ครึ่งหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล รองลงมาคือ ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
และ 3.บีโอไอได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa : LTR) ซึ่งจะเสริมกับมาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น ในกลุ่มที่มาตรการเดิมยังไม่ได้ครอบคลุม เช่น กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศและมีเงินบำนาญสูง (Wealthy Pensioner) และกลุ่มพนักงานบริษัทชั้นนำที่อยากมานั่งทำงานที่ประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional)
สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional) ที่อาจคล้ายกับ "Smart Visa" บีโอไอจะบูรณาการเข้าด้วยกันภายใต้วีซ่า LTR ขณะนี้บีโอไอกำลังเตรียมยกร่างประกาศหลักเกณฑ์ โดยจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และ ตม.
“มาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมแรงในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมคนเก่งหรือ Talent Hub ของภูมิภาค ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วย transform ประเทศ และยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้นด้วย”
ส่วนอีกกิจกรรมสำคัญในช่วงปลายปีนี้ บีโอไอร่วมกับ NIA, DEPA, ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมจัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day ในช่วงต้นเดือนธันวาคม จะเป็นงานใหญ่ครั้งแรกที่รวมกลุ่ม Startup ที่มีศักยภาพสูงในสาขา BCG มานำเสนอแผนธุรกิจ พร้อมพบปะกับนักลงทุนชั้นนำ มีทั้ง VC ไทยและต่างประเทศ CVC บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนต่างๆ เพื่อร่วมกันต่อยอดธุรกิจในอนาคต
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่านโยบายการดึงชาวต่างชาติลงทุนและอาศัยในประเทศไทยระยะยาวหากภาครัฐตั้งใจจริงและมีการรับฟังความเห็นของคนกลุ่มเป้าหมาย ค่อยๆปรับแก้กฏระเบียบก็จะช่วยเศรษฐกิจได้มากประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนทางตรง (FDI)จะมาในรูปของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ซึ่งน่าจะช่วยได้พอควร และผลทางอ้อมที่เราจะได้แรงงานทักษะที่มีความชำนาญสูง รวมถึงความชำนาญเฉพาะด้านเข้ามา
นอกจาก FDI ประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น คนที่เข้ามาก็ต้องกินต้องใช้ สามารถเดินทางท่องเที่ยวในไทยได้สะดวก ถ้ามีลูกหลานก็ต้องเข้าโรงเรียน ต้องใช้จ่ายอุปโภคบริโภคอื่นๆ และเสียภาษีเป็นรายได้ภาครัฐด้วย