เปิดแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ฮับ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อาเซียน

เปิดแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ฮับ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อาเซียน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2670) โดยมีแผน 13 หมุดหมาย และในจำนวนดังกล่าว มุ่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออก 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 24.3% ของการส่งออกทั้งประเทศ ทั้งนี้ในช่วงปี 2564 อุตสาหกรรมดิจิทัลมีปัจจัยทางบวกหลายด้าน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกหดตัวก็ตาม อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รูปแบบธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งราคาตลาดของสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับสถานการ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เร่งผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เกิดการใช้งานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างชาติ และผู้ประกอบการไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบซึ่งไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะ เกม แอปพลิเคชัน ซึ่งไทยผลิตได้เองบางส่วนและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับต่ำ เช่น ซอฟต์แวร์ทางบัญชี

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพัฒนาด้านดิจจิทัลในภาพรวมได้ช้า เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่ครอบคลุม และทักษะดิจิทัลขั้นสูงของประชากรไทยยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างชาติ และมีการสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง ส่งผลให้ไทยยังไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคได้

ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ได้กำหนดเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้สำเร็จภายในปี 2570 ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 30% งานบริการของภาครัฐปรับเป็นดิจิทัลทั้งหมด มีการจัดทำฐานข้อมูล ติดตามจำนวนธุรกรรมงานบริการภาครัฐภายในปี 2566 และทำให้งานบริการประชาชนของภาครัฐปรับเป็นดิจิทัลทั้งหมด

ทั้งยัง ตั้งเป้าให้อัตราการขยายตัวมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้น และมีบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูงคลอบคลุมพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว

ด้านการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นโดยมีสัดส่วนการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 60% ของมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งหมด รวมทั้ง มีบุคคลากรที่มีทักษะ 400,000 ราย ตั้งเป้าให้มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศขยายตัว มีผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกลงทุนในประเทศอย่างน้อย 3 ราย มีสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 6,000 แห่ง โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ประกอบการที่ย้ายมาจากต่างประเทศ มีแรงงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางดิจิทัล (ระดับ 4) ไม่น้อยกว่า 6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยเป็นจุดเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เปิดแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ฮับ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อาเซียน

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่ารายได้ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2564-2566 จะกลับมาขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์ของโลก ในส่วนของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) และส่วนประกอบ คาดว่ารายได้จะเติบโตตามความต้องการของประเทศคู่ค้า เนื่องจาก HDD ความจุสูงจะเติบโตต่อเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งาน cloud computing ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีการพัฒนาการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้ไทยรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้

ส่วนผู้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ คาดว่ามูลค่าส่งออกแผงวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) จะทยอยเติบโต โดยมีปัจจัยหนุนจากยอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกที่คาดว่าจะขยายตัวดี เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดดีมานต์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Internet of Things (IoT) และ Data Center เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G มีแนวโน้มรุดหน้าและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะรองรับเทคโยโลยี IoT ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความต้องการ IC มีแนวโน้มขยายตัว

ผู้ผลิตวงจรพิมพ์ (PCB) และส่วนประกอบ มีแนวโน้มรายได้เติบโตตามมูลค่าส่งออก ด้วยผลจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สู่ระบบการทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT) ส่งผลให้ความต้องการแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการเติบโต อาทิ ดีมานต์ของ HDD ที่มีแนวโน้มลดลงตามยอดการจำหน่าย PC ในตลาดโลก รวมถึง HDD ยังมีแนวโน้มถูกทดแทนด้วย SSD มากขึ้น ผู้ประกอบการ IC ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตตามความต้องการ IC ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในส่วนการพัฒนาการผลิตตามเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย โดยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระต้นทุนได้มากนักจากอำนาจการต่อรองที่ต่ำ ขณะที่คู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม และฟิลิปปินสฺ์ที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เหล่านี้จะมีผลกดดันศักายภาพในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเข้าพบ “ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หารือเรื่องการชักจูงบริษัทข้ามชาติรายใหญ่เข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศ เบื้องต้นมีความเห็นว่ายังต้องนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้จากต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ตลาดในไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ ขนาดตลาดในประเทศไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบคู่แข่ง เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ได้เปรียบด้วยเป็นโรงงานประกอบสมาร์ทโฟนเจ้าใหญ่ จึงต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่สร้างแต้มต่อให้ไทยได้