EEC เดินหน้า จับมือพันธมิตรผู้นำเทคโนโลยี เร่งพัฒนาคน สู่ยุค Smart Industry
อีอีซี เอ็มโอยูกลุ่มเอกชนผู้นำด้านเทคโนโลยี เดินหน้าเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัลตามแนวทางอีอีซีโมเดล ตั้งเป้าสร้างคนตรงความต้องการ 475,668 คน ภายในปี 2566 ป้อนอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Smart Industry 4.0 เสริมความมั่นใจนักลงทุนจากทั่วโลก
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G เป็นตัวเร่งให้เกิดการแทนที่ (Disrupt) อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในทุกวงการ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับสู่รูปแบบออโตเมชั่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการสร้างโรงงานอัจฉริยะ ที่สามารถมอนิเตอร์และควบคุมทางไกลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้แก่ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ไม่ได้เป็นเพียงการเชื่อมต่อการสื่อสาร แต่ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5G ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างรวดเร็วได้มากกว่าระบบ 4G ถึง 100 เท่า โดยข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT และฐานข้อมูลที่สำคัญ จะถูกเก็บรวบรวมและนำไปสร้างเป็ยแพลตฟอร์มแสดงผลให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนนำไปใช้งานต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องเตรียมบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลในการนำมีคนที่ใช้เป็น ด้านผู้ประกอบการจึงให้ความสนใจและหันมาลงทุนด้านการพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาคนในพื้นทีอีอีซีเป็นหนึ่งในการเสริมความมั่นใจและทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกหันมาสนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในพื้นที่ต่อไป
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เผยว่า แผนการพัฒนาคนเป็นเรื่องที่ท้าทาย ย้อนกลับไปวันที่ลงสำรวจพื้นที่เมื่อเริ่มก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพบว่ามีคนว่างงานที่จบปริญญาตรีกว่า 200,000 คน ในขณะที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ต้องการช่างราว 50,000 คน แต่กลับหาคนทำงานไม่ได้ กำลังแรงงานจึงเเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีความกังวลต่อการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งเราก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยเพิ่มproductivity ของคน สิ่งที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานโลกกำลังต้องการ
"ต้องพูดแบบนี้ว่าถ้าเราไม่ลงทุนทำตอนนี้เราก็จะตกขบวนรถ แม้ไทยเราจะไม่สร้างเทคโนโลยีเอง แต่ก็สามารถสร้างรายได้จากการใช้งานได้พอกัน"
ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ทำการสำรวจตวามต้องการของภาคอุตสาหกรรม (demand driven) โดยมีคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) เป็นแกนหลัก จัดทำแผนยกระดับทักษะบุคลากรไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) ประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่ EEC ต้องพัฒนาบุคลากรอีก 475,668 คน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน
โดยการสร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากรภายใต้ 2 โมเดล คือ EEC Model Type A เอกชนจะเป็นผู้ลงทุน 100% โดยผู้ประกอบการมอบทุนให้กับนักศึกษาหรืออาชีวศึกษา พร้อมกับรับเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา โดยร่วมกัสถาบันการศึกษากำหนดหลักสูตรการเรียน ให้มีคุณสมบัติและความสามารถตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
ส่วน EEC Model Type B รัฐและเอกชนร่วมจ่ายคนละครึ่ง 50:50 จะเป็นการอบรมระยะสั้น (short courses) เพื่อผลิตกำลังคนปรับทักษะ (reskill) เพิ่มทักษะ (upskill) ในระยะเร่งด่วน เน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้จริง
ทั้งนี้ อีอีซีได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับเอกชนผู้นำด้านดิจิทัลและ 5G และสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อมกับการก้าวไปสู่ Smart Industry 4.0 โดยมีโครงการ ดังนี้
• บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ EEC และมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดตัว Huawei ASEAN Academy แห่งแรกในประเทศไทย หลักสูตร 5G ICT และ Digital ดำเนินการอบรมทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล 30,000 คน ภายใน 3 ปี เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย โดยมีกรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT)
2.สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ไปเกิดประโยชน์สูงสุด
3.การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี
4.สร้างการรับรองมาตรฐาน (Certification) อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย
• บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริก แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ EEC Automation Park เน้นการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ เป้าหมาย 8,000 โรงงานในอีอีซี ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 200 ราย สร้างบุคลากร15,000 คน ใน 5 ปี โดย EEC Automation Park จะเป็นศูนย์การสร้างเครือข่ายและเรียนรู้ที่จะแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ศูนย์จัดการเรียนรู้ (Learning Center) จะมีชุดสาธิตระบบอัตโนมัติเป็นการจำลองระบบสายการผลิตที่ผสมผสานการนำเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติโรงงานและระบบเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน
2. ศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) จะมีกิจกรรมการอบรมที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
3. ศูนย์พื้นที่ความร่วมมือ (Co-working Space) จะเปิดให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ เข้ามาใช้เพื่อประกอบกิจกรรม เช่น การเจรจาทางธุรกิจ เป็นต้น
และเมื่อเร็วๆ นี้ อีอีซีได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับอีก 4 เอกชนผู้นำเทคโนโลยี ได้แก่ ซิสโก้-มาเวเนีย-5จีแคททะลิซท์-แพลนเน็ตคอม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือเพื่อพัฒานทุนมนุษย์เตรียมความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ พันธมิตรด้านการลงทุนและคู่ค้าที่สำคัญยาวนานกว่า 190 ปี โดยมีเป้าหมายผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล 40,000 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ EEC HDC ได้พิจารณาให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้านการพัฒนาทักษะบุคลากร ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. และได้ขยายเวลามาตรการภาษี 2 ปี (1 ม.ค. 64 – 31 ธ.ค. 65) โดยสิทธิประโยชน์ที่สำคัญๆ อาทิ มาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง สามารถหักรายจ่ายค่าฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า มาตรการส่งเสริมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การบริจาคสินทรัพย์ให้ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร สามารถหักรายจ่ายการบริจาคฯ ได้ 3 เท่า