แบงก์ผวาปล่อยกู้ซีพี 1.7 แสนล้าน ลงทุนไฮสปีด 3 สนามบิน

แบงก์ผวาปล่อยกู้ซีพี 1.7 แสนล้าน ลงทุนไฮสปีด 3 สนามบิน

รฟท.ไฟเขียวกลุ่มซีพี แบ่งจ่าย 6 งวดใน 6 ปี ค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ งวดแรกจ่ายแค่ 533 ล้าน จากเดิมต้องจ่ายครั้งเดียว 10,671 ล้านบาท ด้านแบงก์ผวาปล่อยกู้ลงทุนไฮสปีด 1.7 แสนล้าน เหตุหนี้ชนเพดาน

กรุงเทพธุรกิจ บิซอินไซท์ ยังคงเกาะติดความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพีเป็นแกนนำ ยื่นข้อเสนอขอรับการเยียวยา พร้อมขอเลื่อนจ่ายค่าสิทธิในการบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท มายังการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือรฟท.โดยให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19

กลุ่มซีพียื่นข้อเสนอ 3 แนวทางที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ คือ 1.ขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์  จากที่ต้องชำระเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา 2.ขอเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมทุนโครงการ และ 3.ขอขยายระยะเวลาโครงการ

ที่ผ่านมา รฟท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU เรื่องการบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์กับกลุ่มซีพีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 โดยบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด จะรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถตั้งแต่วันนี้ 

สำหรับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานที่เรียกว่า Notice to Proceed หรือ NTP และไม่กระทบต่อระยะเวลาการเริ่มก่อสร้างมากนัก

เบื้องต้นคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบให้กลุ่มซีพีเลื่อนการจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ออกไปอีก  3 เดือน และปรับวิธีการชำระเงินค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากชำระงวดเดียว 10,671 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด ระยะเวลา 6 ปี ดังนี้

ปีที่ 1 จ่าย 5% , ปีที่ 2 จ่าย 7% , ปีที่ 3 จ่าย 10% , ปีที่ 4-5 จ่ายปีละ 10% และปีที่ 6 จ่าย 58% โดยจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 ปี รวม 1,034 ล้านบาท และงวดแรกเริ่มจ่ายเมื่อการระบาดของโควิด 19 ยุติลง และภาครัฐยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

ที่ผ่านมา บริษัทเอเชีย เอรา วัน  มีปัญหาในการเจรจาขอสินเชื่อเพื่อลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยสถาบันการเงินเห็นว่า โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีปัญหาซบเซา จำนวนผู้โดยสารน้อยลงจากผลกระทบของโควิด 19 ล่าสุดมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 9 พันคน จากเดิม 7 หมื่นคน

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราหนี้ของกลุ่มซีพีชนเพดานหลังที่ผ่านมาธุรกิจในเครือมีการกู้เงินเพื่อลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะการซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย 338,445 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวกลุ่มซีพีใช้ทั้งกระแสเงินสดของบริษัทในกลุ่มและการกู้เงิน

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มซีพีต้องยื่นกู้เงินจากสถาบันการเงินในสัดส่วน 80% ของมูลค่าโครงการ 2.2 แสนล้านบาท หรือต้องใช้เงินกู้ประมาณ  1.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเห็นชอบรายละเอียดเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาแล้ว จะต้องจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ.พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนลงนามแก้ไขสัญญาต่อไป