"สามารถ" แนะ 3 ทางเลือกแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เร่งสางปัญหาราคาคาซัง
"สามารถ" แนะ 3 ทางเลือก !!! แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว จี้รัฐตัดสินใจหลังปัญหาคาราคาซัง เผยหากใช้ทางเลือกประมูลก่อนปี 2572 ต้องเตรียมเงินอุดหนุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสบนเฟสบุ๊คส่วน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึง 3 ทางเลือก !!! แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า
การแก้ปัญหาหนี้สินที่ กทม. ค้างจ่ายในการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายยังคงหาข้อยุติไม่ได้ ถึงวันนี้ กทม. มีหนี้อยู่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท หนี้ก้อนใหญ่นี้จะพอกพูนขึ้นทุกวัน เมื่อ กทม. ไม่มีเงินมาใช้หนี้ แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร?
รัฐบาลมี 3 ทางเลือก
ทางเลือกที่ 1: เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2572
ทางเลือกนี้จะต้องรอจนกว่าสัญญาสัมปทานระหว่าง กทม. กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS สิ้นสุดลงในปี 2572 สัญญานี้ให้ BTS ลงทุนก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักเองทั้งหมด 100% ตั้งแต่ปี 2542-2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน
การเปิดประมูลใหม่จะต้องให้ผู้รับสัมปทานรับผิดชอบการเดินรถและบำรุงรักษาทั้งส่วนหลักและส่วนขยาย ซึ่งส่วนขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต แต่จะเปิดประมูลใหม่ได้นั้น รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้
1. รัฐบาลจะต้องชำระหนี้ให้ BTS ถึงวันนี้เป็นเงินประมาณ 37,000 ล้านบาท เป็นค่าเงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายค้างจ่าย อีกทั้ง จะต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เวลานี้จนถึงปี 2572 รวมทั้งค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) อีกประมาณ 93,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 130,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารของส่วนต่อขยายมีไม่พอ เพราะขาดทุน
2. รัฐบาลต้องแก้ปัญหาข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่าง กทม. กับ BTS กล่าวคือ กทม. ได้ทำสัญญาจ้างให้ BTS เดินรถและบำรุงรักษาทั้งส่วนหลักและส่วนขยายจนถึงปี 2585 ด้วยเหตุนี้ การเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2572 ก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างในปี 2585 อาจทำให้ BTS ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. ได้
ทางเลือกที่ 2: เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2585
ทางเลือกนี้จะไม่เกิดข้อพิพาทระหว่าง กทม. กับ BTS เนื่องจากต้องรอจนกว่าสัญญาจ้างให้ BTS เดินรถสิ้นสุดลงในปี 2585 จึงจะเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ แต่รัฐบาลจะต้องชำระหนี้ให้ BTS ถึงวันนี้เป็นเงินประมาณ 37,000 ล้านบาท อีกทั้ง จะต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เวลานี้จนถึงปี 2585 รวมทั้งค่าเงินต้นและค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2585 และค่าชดเชยกองทุนรวม BTSGIF อีกกว่า 350,000 ล้านบาท
ทางเลือกที่ 3: ขยายสัมปทานให้ BTS 30 ปี
มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงจากหลายหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งหมด 10 ท่าน เพื่อพิจารณานำรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาบริหารจัดการภาระหนี้สิน ค่าจ้างเดินรถ ค่าเงินต้นและค่าดอกเบี้ยงานโยธา และค่าชดเชยกองทุนรวม BTSGIF รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลตอบแทนให้ กทม. ในที่สุด คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ขยายสัมปทานให้ BTS เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. BTS จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้ทั้งหมดของ กทม.
หนี้ในปัจจุบันประมาณ 37,000 ล้านบาท รวมทั้งค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เวลานี้จนถึงปี 2572 ค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุนรวม BTSGIF อีกประมาณ 93,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 130,000 ล้านบาท BTS จะต้องเป็นผู้รับภาระเองทั้งหมด
2. BTS จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. กว่า 2 แสนล้านบาท
BTS จะต้องแบ่งรายได้ตั้งแต่ปี 2572-2602 ให้ กทม. เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท และหาก BTS ได้ผลตอบแทนการลงทุนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มเติมอีกตามอัตราที่กำหนดในสัญญา
3. ค่าโดยสารสูงสุดจะต้องไม่เกิน 65 บาท
BTS จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งอัตราค่าโดยสารนี้เมื่อคิดเป็นค่าโดยสารต่อกิโลเมตรพบว่าถูกกว่าค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งรัฐลงทุนก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณ 80%) และถูกกว่าค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งรัฐลงทุนเองทั้งหมด 100%
สรุป
มีข้อมูลชัดๆ อย่างนี้แล้ว คงช่วยให้ ครม. พิจารณาตัดสินใจแก้ปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คาราคาซังมานานแล้วได้นะครับ