ตลท.ชี้กระแส ESG มาแรง กองทุนหุ้นยั่งยืนโต 96%-คะแนน CG ออลไทม์ไฮ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย นักลงทุนแห่ลงทุนกองทุน ESG ดัน AUM ปีนี้โต 96% แตะ 5.7 หมื่นล้าน ด้านผลสำรวจคะแนน CGR ปี 64 ของ บจ.ไทย พุ่งแตะ 84% นิวไฮรอบ 21 ปี
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนเริ่มมีความต้องการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัทตามบริบทของอุตสาหกรรม และมีการคัดกรองบริษัทที่มี ESG อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สะท้อนจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีกองทุน ESG กว่า 58 กองทุน และมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารรวมประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากต้นปี ถือเป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับต่างประเทศ ซึ่งมีการลงทุนด้าน ESG เป็นกระแสหลัก (Main Stream)
ขณะที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยมีการพัฒนาด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากผลการประเมินโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2564 (CGR 2021) ที่อยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไปมีจำนวนกว่า 74% ของ 716 บริษัทที่เข้าประเมินในปีนี้แบ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในระดับ 5 ดาว (90 คะแนนขึ้นไป) 268 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 240 บริษัท และบริษัทที่อยู่ในระดับ 4 ดาว (80-89 คะแนน) 260 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 246 บริษัท
ทั้งนี้ ส่งผลให้การสำรวจ CGR ในปี 2564 มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ 21 ปีที่ 84% จากปีก่อนที่ 83% โดยคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 98% และคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 47% สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินตามมาตรฐาน ESG ของ บจ. โดยหมวดที่คะแนนเพิ่มขึ้น ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น 95% จากปีก่อน 94% บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 84% จากปีก่อน 83% และ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ 77% จากปีก่อน 76%
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาคะแนนเปรียบเทียบตามขนาดของมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) จะเห็นว่า บจ.ที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ (10,000 ล้านบาทขึ้นไป) มีค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ 90% สูงกว่าบจ.ที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดเล็ก (ต่ำกว่า1,000 ล้านบาท) มีค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ 81% หรือแตกต่างกัน 9%
ในการนี้ ตลท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับปรุงเกณฑ์ CGR ในปี 2566 เพื่อทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการกำกับดูแลกิจการทั้งในประเทศและในระดับสากล รวมถึงมีการเพิ่มเติมสาระให้สอดคล้องกับแบบ 56-1 One Report ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในการประเมินมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และสามารถใช้ชี้วัดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ