แบงก์ชาติซื้อทองเพิ่มในรอบ 4 ปี ลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ
กูรู ชี้ "เงินเฟ้อ" ดัน ราคาทองพุ่ง "แม่ทองสุก" คาดปี 65 มีโอกาสทดสอบ 2 พันดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนทองไทยพุ่งแตะ 2.95 หมื่นบาท "นายกสมาคมค้าทองคำ" คาดไตรมาส 4/64 แกว่งตัวในกรอบแคบจากแรงกดดันค่าเงินบาท ฝั่ง "สภาทองคำโลก" ชี้ ธปท.เพิ่มสัดส่วนถือทองคำในรอบ 4 ปี
นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก เปิดเผยว่า เงินเฟ้อมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันดิบ และราคาถ่านหิน ที่ปรับขึ้นสูง ทำให้คาดว่าปีหน้าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น
เพราะทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยมองเป้าหมายราคาทองคำในปี 2565 ที่แนวต้าน 1,950-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น ราคาทองคำในประเทศที่ 29,000-29,500 บาทต่อบาททองคำ
ขณะที่พบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ปริมาณทองคำที่ ธปท.ถือครองไม่ได้มีนัยต่อทิศทางราคาทองคำในประเทศ โดยให้น้ำหนักค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศมากกว่า ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทเริ่มพลิกแข็งค่า ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศถูกกดดัน
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ระยะสั้นคาดว่าราคาทองคำจะแกว่งตัวในกรอบแคบระหว่าง 1,775-1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็นราคาทองคำในประเทศระหว่าง 27,900-28,400 บาทต่อบาททองคำ เพราะถูกกดดันจากค่าเงินบาทที่ผันผวน แต่ในปี 2565 มองว่าทองคำมีโอกาสปรับขึ้น แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากดดันราคาทองคำระหว่างทาง เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การซื้อขายของกองทุนทองคำโลก และภาวะเงินเฟ้อ
นายแอนดรูว์ เนย์เลอร์ ผู้บริหารประจำภูมิภาค และนโยบายสาธารณะสภาทองคำโลก (World Gold Council) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารกลางทั่วโลกกลับเข้ามาถือครองทองคำเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ ธปท.ที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560 โดยคาดว่าการเข้ามาถือครองทองคำเพิ่มขึ้นของแบงก์ชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูง โดยมีโอกาสเห็นแบงก์ชาติทั่วโลกซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2564