“ฟ็อกซ์คอนน์” รุกตลาดอาเซียน ยึดฐานการผลิตEVครบวงจร
“ฟ็อกซ์คอนน์” ลุยตลาดอาเซียน ยึดฐานการผลิตEVครบวงจร ดอดคุย “อินโดนีเซีย” หวังตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า พร้อมแบตเตอรี EV ภายหลังปิดดิวในไทยไปก่อนหน้า
เมื่อนานาประเทศต่างประกาศเจตนารมณ์ที่จะผลักดันการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดูเหมือนจะเป็นอีกตัวแปลสำคัญ
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาร์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมการไว้เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย โดยเฉพาะสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย จะทยอยเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมาควบคู่กับพลังงานสะอาด สถานีประจุไฟฟ้า และตามด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างไฟฟ้า คาดว่าจะได้เห็นการประกาศการลงทุนในอุตสาหกรรม ทั้งจากนักลงทุนเดิมทั้งในและต่างประเทศรวมถึงนักลงทุนหน้าใหม่
ล่าสุด บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ได้เตรียมลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรีรถไฟฟ้าร่วมกับอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซีย ก็ได้ออกมายืนยันว่ามีแผนผลิตรถไฟฟ้ากับบริษัทไต้หวัน และวางเป้าหมายที่ต้องการผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก
อีกทั้ง คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย (บีเคพีเอ็ม) ได้เผยแพร่รายละเอียดการหารือกันระหว่างประธานคณะกรรมการฯ บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย กับ ยัง หลิว ประธานฟ็อกซ์คอนน์ และ โฮเรซ ลุค ผู้ก่อตั้ง โกโกโร บริษัทให้บริการระบบแลกเปลี่ยนแบตเตอรี และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ชั้นนำสัญชาติไต้หวัน
โดยบีเคพีเอ็ม ได้อ้างคำพูดของ ยังหลิว ว่า ฟ็อกซ์คอนน์ มีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีและผลิตรถไฟฟ้าครบวงจรในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2564 ยืนยันว่าได้หารือกับทางการอินโดนีเซียเกี่ยวกับแผนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีสำหรับรถไฟฟ้าจริง โดยประธานบีเคพีเอ็ม เสนอมาตรการจูงใจหลายอย่างที่จะสนับสนุนบริษัทไต้หวันลงทุนในอินโดนีเซียแต่ในเวลาต่อมาฟ็อกซ์คอนน์ออกแถลงการณ์ย้ำว่าการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ
ทั้งนี้ ข่าวการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียมีขึ้นในช่วงที่ฟ็อกซ์คอนน์ เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเปลี่ยนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่ถือเป็นธุรกิจใหม่ให้กลายเป็นธุรกิจทำเงินให้บริษัท 35,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปี
จะเห็นได้ชัดเจนว่าฟ็อกซ์คอนน์มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ EV อย่างชัดเจน รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยด้วย
โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างโรงงานหวังให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีรถอีวีในยุโรป อินเดีย และอเมริกาเหนือ หรือไม่ก็อเมริกาใต้ ภายในปี 2567 ด้วย
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานบริหาร ปตท. เปิดเผยว่า จะตั้งโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน รวมถึงผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม จัดตั้งกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture
โดยในปี 2565 จะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งโรงงาน และเริ่มการลงทุนในมูลค่า 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลา 2-3ปี เพื่อเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด มีเป้าหมายการผลิตในระยะแรกปีละ 50,000 คัน ก่อนขยายเป็นปีละ 150,000 คัน
พร้อมพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนป้อนค่ายรถยนต์ โดยไม่ต้องลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ ส่วนโรงงานที่ทำการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าในลักษณะนี้จะมีเพียง 2 แห่งในโลก คือ โรงงานของฟ็อกซ์คอนน์ที่ในประเทศสหรัฐ และที่กำลังจะก่อสร้างโรงงานในไทย
“ปตท.มีแผนดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกทั่วโลก เพราะยังประเทศที่ขับขี่ด้วยรถพวงมาลัยขวาน้อย การผลิตรถอีวีพวงมาลัยขวาจึงน้อยตามไปด้วย ทั้งปตท.และฟ็อกซ์คอนน์ จึงมองตลาดนี้”
ความแตกต่างที่ ปทต.ทำกับฟ็อกซ์คอนน์ คือสร้างความยืดหยุ่นให้กับแบรนด์รถยนต์ เพราะแบรนด์รถยนต์มีเยอะ ประกอบกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่น่าสนใจ ดังนั้น ถ้าแต่ละแบรนด์สร้างเพียงโครงแบบรถยนต์ แล้วนำมาประกอบกับเครื่องยนต์ที่ปตท.ผลิตจะคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุน
การลงทุนในธุรกิจ EV ของ ปตท.เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน โดยการเอาไฟฟ้าขั้นสุดท้ายมาใช้ และเดินหน้าด้วยเทคโนโลยี สอดรับไปกับวิสัยทัศน์ของปตท.จึงมั่นใจว่าแนวโน้มของรถยนต์จะหันมาเป็นรถ EV มากขึ้น
ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาฟ็อกซ์คอนน์บรรลุข้อตกลงมูลค่า 280 ล้านดอลลาร์กับลอร์ดสทาวน์ มอเตอร์ บริษัทสตาร์ทอัพรถอีวีในสหรัฐเพื่อครอบครองโรงงานผลิตรถของบริษัทในรัฐโอไฮโอ กลายเป็นฐานการผลิตรถอีวีแห่งแรกของฟ็อกซ์คอนน์ในตลาดอเมริกาเหนือ
ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นหนึ่งในบริษัทหลายแห่งที่แสดงความสนใจต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวีของอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ รวมถึงบีเอเอสเอฟ บริษัทสัญชาติเยอรมัน เทสลา ค่ายรถไฟฟ้าสัญชาติสหรัฐและซีเอทีแอล ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ค่ายรถหลายแห่งสนใจลงทุน EV ในอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตรถอีวี
จากผลสำรวจด้านธรณีวิทยาของสหรัฐระบุว่า ในปี2563 อินโดนีเซียผลิตนิกเกิลประมาณ 760,000 ตัน ปัจจุบันมีนิกเกิลสำรองในปริมาณ 21 ล้านตัน ถือว่ามากกว่าทุกประเทศทั่วโลก หากมีการบริหารจัดการที่ดี อินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าจากแร่นิกเกิล เช่น แบตเตอรีลิเธียม และแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ได้ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
ถึงแม้ว่าความชัดเจนด้านการลงทุนของ ฟ็อกซ์คอนน์ ในอินโดนีเซียจะยังไม่บรรลุข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การขยายการลงทุนมาในตลาดอาเซียนของผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนรายใหญ่ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าEV เป็นตลาดเหมาะแก่การทุ่มเม็ดเงินลงทุน