เช็คก่อนซื้อ! ‘หุ้นกู้’ เหมาะกับเราหรือไม่ ?
อย่าซื้อตามเพื่อน! เช็คตัวเองก่อน "ลงทุน" ใน "หุ้นกู้ดิจิทัล" มีความเสี่ยง และโอกาสอย่างไร ลงทุนแล้วได้อะไร เหมาะกับเราหรือไม่ ?
"หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ." เริ่มเปิดขายในแอพฯ "เป๋าตัง" วันแรก 2 พ.ย. 64 เริ่มซื้อได้ตั้งแต่ 1,000 บาท ดึงกระแสความสนใจของนักลงทุนรายย่อยเป็นอย่างมาก
แต่ก่อนซื้อ "หุ้นกู้" อย่าลืมว่านี่คือการลงทุนและมีความเสี่ยงตามมา "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนคนที่เล็งว่าจะลงทุนในครั้งนี้ ว่าการลงทุนในหุ้นกู้ เหมาะกับเราจริงหรือไม่
- "หุ้นกู้" เหมาะกับใคร ?
"หุ้นกู้" (Corporate Bond) คือ "ตราสารหนี้" (Bond) ประเภทหนึ่งที่ออกโดย "บริษัท" ต่างๆ ในภาค "เอกชน" โดยมีเป้าหมายเพื่อเอาเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในกิจการต่างๆ ตามแผนพัฒนาบริษัท ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ที่เสนอขาย ผู้ลงทุนจะอยู่ในสถานะของ "เจ้าหนี้" ของกิจการนั้นๆ
- "ซื้อหุ้นกู้" แล้วจะได้อะไร ?
ลักษณะที่สำคัญของหุ้นกู้คือ ผู้ออกหุ้นกู้ จะต้องให้คำสัญญาว่าจะจ่าย “ดอกเบี้ย” เป็นงวดๆ ตามที่ตกลงกันตลอดอายุของหุ้นกู้ ซึ่งตามปกติ "หุ้นกู้" จะมีการกำหนดอายุที่ชัดเจน เช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปี มีการจ่ายปันผลตามระยะเวลาที่กำหนด และจะชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับเงินที่ซื้อหุ้นกู้คืนพร้อมกับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลา แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่หุ้นกู้รุ่นนั้นๆ กำหนดด้วย ส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ
- ซื้อหุ้นกู้ต้องมีเงินเท่าไร ?
การออกหุ้นกู้โดยทั่วไปในประเทศไทย มักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาทหรืออาจมากกว่านั้นในกรณีการขายให้นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่
แต่ปัจจุบันเริ่ม มีการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยให้คนไทยเริ่มเข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น อาทิ การลงทุนในหุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ. ที่เป็นการเปิดให้ลงทุนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 1000 บาท หรือซื้อเพียง 1 หน่วยเท่านั้น
- หุ้นกู้ มีแบบไหนบ้าง ?
เมื่อพูดถึง “หุ้นกู้” ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนจะต้องดูเงื่อนไขก่อนว่าเป็นหุ้นกู้ประเภทใด เพราะหุ้นกู้ มีเงื่อนไขการค้ำประกัน ที่ทำให้หุ้นกู้แต่ละรุ่นต่างกันออกไป
ซึ่งเงื่อนไขการค้ำประกัน (Collateralization) ที่ว่านี้ มีไว้ในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาหรือต้อง "เลิกกิจการ" หรือต้องประสบกับสภาวะ "ล้มละลาย" ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามที่สัญญา หุ้นกู้แต่ละประเภทก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบหลัก ดังนี้
1. หุ้นกู้ไม่มีค้ำประกัน (Unsecured bonds)
หุ้นกู้ในไทยส่วนใหญ่ เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทของตัวเอง และความสามารถในการจัดสรรกระแสเงินสดและดอกเบี้ยภายในกำหนด ซึ่งอาจดูได้จาก “เครดิตเรทติ้ง” ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกระดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เราจะซื้อว่าถูกจัดอยู่ในระดับใด เช่น AAA คืออันดับเครดิตสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะไม่สามารชำระหนี้ได้ตามกำหนด เป็นต้น
2. หุ้นกู้มีประกัน (Secured bonds)
หุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ค้ำประกันอยู่ เช่นที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมักจะมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย
3. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ (Subordinated bonds)
หุ้นกู้ด้อยสิทธิมีลักษณะเหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่เมื่อกิจการที่ออกหุ้นกู้ล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ที่ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์จะได้รับเงินต้นคืนหลังจากผู้ถือหุ้นกู้ที่มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญประเภทอื่น โดยลำดับที่กิจการจะคืนเงินให้จะเรียงลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้ หุ้นกู้มีประกัน > หุ้นกู้ไม่มีประกัน > หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ > หุ้นสามัญ
- หุ้นกู้ซื้อขายที่ไหนได้บ้าง ?
การลงทุนในหุ้นกู้ มีเสนอขาย 2 รูปแบบ คือ หุ้นกู้ที่มีเสนอขายในตลาดแรก และตลาดรอง
หุ้นกู้ที่มีเสนอขายในตลาดแรก คือ หุ้นกู้ที่มีการออกใหม่และเสนอขายเป็นครั้งแรก
หุ้นกู้ที่มีเสนอขายในตลาดรอง คือ หุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนด ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างนักลงทุนด้วยกัน โดยผ่านตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ เช่น ตลาดตราสารหนี้หรือ Bond Electronic Exchange (BEX) จัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ส่วนการซื้อขาย "หุ้นกู้ดิจิทัล" ปัจจุบันสามารถซื้อขายกันได้ผ่านแอพฯ "เป๋าตัง" ตลอด 24 ชั่วโมง โดยนำร่องโดย "หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ." ที่เริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 1 หน่วย หรือ 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยที่สุดตั้งแต่มีการเปิดจำหน่ายหุ้นกู้ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องการซื้อขายอาจแตกต่างไปตามขนาดและเงื่อนไขของแต่ละหุ้นกู้ด้วย
- 'หุ้นกู้' เหมาะกับใคร ?
คนที่ต้องการผลตอบแทนประจำ เป็นแหล่งรายได้ประจำ เนื่องจากหุ้นกู้และตราสารหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ให้แก่ผู้ลงทุน และจะจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้ประจำ และต้องการให้เงินต้นของการลงทุนนั้นยังอยู่ครบคนที่ยอมรับความเสี่ยงจากหุ้นกู้ได้
"หุ้นกู้" ก็คือการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่แน่นอนว่าจะต้องมีความเสี่ยงตามมา ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกู้จึงเหมาะกับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้น จะทำให้ตราสารหนี้มีราคาหรือมูลค่าลดลง หรือเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
รวมถึงความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง ที่เรียกได้ว่าหุ้นกู้เหมาะกับคนที่มี “เงินเย็น” ที่สามารถลงทุนได้ตามระยะเวลาที่หุ้นกู้กำหนด เพราะหากเลือกลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวแต่ไม่สามารถถือไว้จนครบกำหนดอายุหุ้นกู้แล้วต้องนำไปขายในตลาดรอง อาจทำให้ต้องขายขาดทุน หรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้เหมือนกับการถือจนครบอายุนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: