ก.ล.ต.ไตรมาส 3/64 เปรียบเทียบปรับกว่า 34 ล้าน จากปีก่อนไร้คดีแพ่ง
ก.ล.ต.เปิดสถิติไตรมาส 3/64 เปรียบเทียบปรับทางแพ่งกว่า 34 ล้านบาท จากผู้กระทบผิด 10 ราย จากปีก่อนไร้การดำเนินคดีทางแพ่ง ฝั่งการระดมทุน พบมูลค่าเสนอซื้อหลักทรัพย์กว่า 5.4 แสนล้าน แต่เกิดขึ้นจริงเพียง 6.5 หมื่นล้าน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยข้อมูลสถิติสำคัญไตรมาส 3 ปี 2564 ว่า ในไตรมาสนี้ ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งจำนวน 1 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 10 ราย มูลค่าค่าปรับทางแพ่ง 19,813,648 บาท ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 13,802,647 บาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 422,711 บาท รวมมูลค่า 34,039,006 บาท จากช่วงเดียวกันจากปีก่อนไร้ผู้กระทบผิดทางแพ่ง
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ส่วนผู้ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด ก.ล.ต.ส่งฟ้องศาลแพ่ง 1 ราย จำนวนเงินที่ขอให้ศาลสั่งลงโทษ 722,116 บาท
ขณะที่การดำเนินคดีอาญามีจำนวนรวม 54 ข้อหา ผู้กระทำผิด 25 ราย คิดเป็นจำนวนเงินค่าปรับรวม 10,606,125 บาท ขณะที่การกล่าวโทษมีจำนวนรวม 3 คดี และมีจำนวนผู้ถูกกล่าวโทษ 6 ราย
ขณะที่ภาพรวมการระดมทุนไตรมาส 3 ปี 2564 ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนรวม 21 บริษัท แบ่งเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 17 บริษัท การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไป (PO) 1 บริษัท และการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) 3 บริษัท
ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายรวม ล้านบาท 38,302 แบ่งเป็น IPO 9,761 ล้านบาท และมูลค่าการขายครั้งต่อไป 28,541 ล้านบาท
สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ในไตรมาส 3 ปี 2564 มีมูลค่ารวม 702,012 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. การเสนอขายในประเทศมูลค่า 636,386 ล้านบาท ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 303,913 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 332,473 ล้านบาท และ 2. การเสนอขายต่างประเทศ 65,626 ล้านบาท
ส่วนการเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืนมูลค่ารวม 47,000 ล้านบาท ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 15,000 ล้านบาท ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 27,000 ล้านบาท และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) มูลค่า 5,000 ล้านบาท
ในไตรมาส 3 ปี 2564 มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการรวมทั้งสิ้น 6 บริษัท มูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 546,699 ล้านบาท แต่มีมูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 65,607 ล้านบาท แบ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการครอบงำกิจการ 5 บริษัท มูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 546,504 ล้านบาท มูลค่าที่เกิดขึ้นจริง 65,448 ล้านบาท และเพื่อออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 บริษัท มูลค่าเสนอซื้อ 196 ล้านบาท มูลค่าที่เกิดขึ้นจริง 159 ล้านบาท
สำหรับข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในไตรมาส 3 ปี 2564 รวมทั้งสิ้น 234 เรื่อง จำนวนเรื่องที่รับดำเนินการ 24 เรื่อง และจำนวนเรื่องที่ยุติทั้งหมด 210 เรื่อง โดยเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด คือ อื่นๆ 155 เรื่อง ระบบซื้อขายของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 38 เรื่อง ผู้บริหาร/กรรมการบริษัทจดทะเบียน 26 เรื่อง และระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง 15 เรื่อง