สศช.รับข้อเสนอฟื้น ‘ช้อปดีมีคืน‘ กระตุ้นเศรษฐกิจ
สภาพัฒน์ขานรับข้อเสนอเอกชน นำโครงการ "ช้อปดีมีคืน" กลับมาใช้อีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบ เงื่อนไข ขณะที่มองเศรษฐกิจไทยปี 65 จะโต 3.5-4.5% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึง ข้อเสนอของภาคเอกชนให้ภาครัฐนำโครงการ "ช้อปดีมีคืน" กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อนั้น ขณะนี้ภาครัฐรับข้อเสนอดังกล่าวไว้แล้ว แต่ขอให้รอความชัดเจน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะทำในลักษณะใด รูปแบบใด และจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดแรงส่งเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 64 จะฟื้นตัวได้จากช่วงไตรมาส 3 ปี 64 ที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 มีกลับมาแพร่ระบาดรุนแรง ส่วนภาพรวมปี 64 คาดว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2% โดยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.2% การส่งออก ขยายตัว 16.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2 แสนคน
ส่วนในปี 65 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% ภายใต้สมมติฐานว่าการระบาดของโควิดในประเทศอยู่ในวงจำกัด ไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขที่จะบริหารจัดการได้ และไม่มีการระบาดระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าเดิม
ด้านเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 4.8% และ 6.5% ตามลำดับ หนุนการส่งออกปี 65 เติบโต 4.9% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.9-1.9% และค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 32.00 - 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ ในปี 2564 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ
ส่วนภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอีกปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 5 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติราว 4.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 65 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมทั้งข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิต และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกท่ามกลางแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น