สถาบันคุ้มครองเงินฝากแนะกระจายเสี่ยงลงทุนสู้เงินเฟ้อ

สถาบันคุ้มครองเงินฝากแนะกระจายเสี่ยงลงทุนสู้เงินเฟ้อ

สถาบันคุ้มครองเงินฝากชี้ความท้าทายผู้ฝากเงิน คือ การลงทุนสู้เงินเฟ้อ เลี่ยงฝากออมทรัพย์ทั้ง 100% แนะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น ฝากประจำ ทองคำ และ set 50 เพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เผยรอบ 20 ปี ผลตอบแทน set 50 สูงสุดที่ 8.25% ต่อปี

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ บริหารเงินฝากอย่างไร เมื่อวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจว่า สิ่งที่ท้าทายมากกว่าการลงทุนอย่างไรให้รวย คือ ลงทุนอย่างไรให้เราสู้เงินเฟ้อให้ได้ และ การกระจายความเสี่ยงการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

เขากล่าวว่า หลายคนมีคำถามว่า ตั้งแต่เราไม่ได้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ 5 ล้านบาทขึ้นไป มีการเคลื่อนย้ายเงินหรือมีเงินฝากลดลงหรือเปล่า หรือว่า ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยเราพบว่า ทั้งปี 2564 อัตราโตเงินฝาก ยังมีเงินไหลเข้าระบบเป็นระยะ เมื่อต้นปีอยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท ในสิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ 15.25 ล้านล้านบาท เมื่อดูอัตราการโตเงินฝากย้อนหลัง 10 ปี จะพบว่า อยู่ที่ 4-6%

ส่วนจำนวนคนฝากเงินจะพบว่า กรณีคนฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 82 ล้านคน หรือ 98% และจะมีอีกประมเกือบ 2% ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท หรือประมาณ 2 ล้านคน

อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่เราก็ต้องบริหารจัดการ เพื่อให้เงินในกระเป๋าเพิ่มเติมขึ้น โดยบุคคลธรรมดายังมีเงินฝากเพิ่ม แต่ปีนี้ เป็นปีที่ท้าทาย เพราะจำนวนคนไม่น้อยรายได้น้อยลงไปกว่าเดิม ต้องถอนเงินฝากไปใช้จ่าย และอัตราการโตเงินฝากปีนี้ น่าจะน้อยกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยน่าจะขยายตัวได้ไม่ถึง 2-3%

เขากล่าวว่า การฝากเงินนั้น หลายคนมองเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งที่มีความมั่นคงสูง แต่อะไรที่มั่นคงสูง ผลตอบแทนก็จะน้อย เพราะความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ควรจะมีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์อื่น ซึ่งการลงทุนแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ เมื่อย้อนหลังไป 20 ปี คือ ธ.ค.2544 ถ้าเราเลือกเก็บเงินไว้ 1 ล้านบาท คิดผลตอบแทนจะพบว่า เงินฝากออมทรัพย์มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1%ต่อปี ถ้าฝากประจำไว้ 1-2 ปี จะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 2%ต่อปี ถ้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีผลตอบแทนจะอยู่ที่ 2.46%ต่อปี ถ้าซื้อทองคำผลตอบแทนจะอยู่ที่ 8%ต่อปี ถ้าซื้อหุ้นใน set 50 ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 8.25% ต่อปี

ถ้าดูผลตอบแทนการเก็บเงินไว้ในออมทรัพย์ 100% ในส่วนของผลตอบแทนจะอยู่ที่ 1.07% ถ้าปรับสัดส่วนเป็นออมทรัพย์ 50% และฝากประจำ 1 ปี ผลตอบแทนจะเริ่มดีขึ้น 1.54% ถ้าออมทรัพย์ 50% ฝากประจำ 25% และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีอีก 25% ผลตอบแทนจะดีขึ้นอยู่ที่ 1.55%

อีกแนวทางหนึ่ง คือ ออมทรัพย์น้อยลง ฝากประจำเท่าเดิมและพันธบัตร 3 ปี ที่ 15%และปรับมาลงทุนใน set 50 อีก 10% ผลตอบแทนจะเพิ่มเป็น 2.98% และ ถ้าเราปรับเก็บเงินฝากให้น้อยจาก 100% ให้เหลือแค่ 10% และไปฝากประจำ 25% พันธบัตรออมทรัพย์ 3 ปี 25% ทองคำ 10% และ ที่เหลือฝากใน set 50 อีก 30% ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 4.4% ต่อปี

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ถ้าผ่านไปอีก 10-20 ปี สิ่งที่เราจะไม่แนะนำเลยคือการฝากเงินไว้ 100% เพราะผลตอบแทนน้อยที่สุด แต่ถึงแม้จะฝากเงินไว้ ก็ไม่ควรฝากออมทรัพย์ไว้อย่างเดียว ควรฝากประจำบางส่วน และ กระจายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นบ้าง ถ้าเราไม่เชี่ยวชาญมาก การลงทุนในโลหะมีค่าหรือset 50 จะทำให้ผลตอบแทนจะดีขึ้น

ในส่วนของผลตอบแทนนั้น ปัจจัยสำคัญ คือ เงินเฟ้อ ถ้าอีก 5-10 ปีข้างหน้า เงินที่มีอยู่จะซื้อของในชิ้นเดิมได้หรือไม่ ถ้าเราฝากเงินไว้อย่างเดียว ก็จะไม่พอกับเงินเฟ้อ ถ้าดูผลตอบแทนจากเงินฝากกับเงินเฟ้อจะพบว่า ผลตอบแทนเราติดลบ 0.8% ถ้าเราฝากประจำจะสูสีกับเงินเฟ้อ ถ้าเราเลือกลงทุนพันธบัตรจะเหลือเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และการลงทุนในทองคำหรือset 50 จะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

เขากล่าวว่า ปัจจุบันแม้วงเงินคุ้มครองเงินฝากที่มีอยู่จะลดลงไปจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท แต่ในอนาคตไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีการทบทวนวงเงินการคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังได้มีการศึกษาการคุ้มครองผลิตภัณฑ์การเงินในอนาคตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการออมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งที่สำคัญของผู้ฝากหรือผู้ลงทุน คือ เราอาจจะต้องพิจารณาว่า เราเป็นนักลงทุนประเภทไหน ถ้าเราทยอยสะสมเงินวงเงินคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบันก็ไม่น้อย เราสามารถคุ้มครองเงินฝากได้ไม่น้อยกว่า 98% แต่ถ้าเรามีเงินมากกว่า 1 ล้านบาท ก็ควรนำเงินไปบริหารจัดการเพิ่มขึ้น โดยแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีขึ้น แต่อาจจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น

สำหรับการลงทุนในปีหน้า เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว เราเชื่อมั่นว่า การฝากเงินที่จะมีรูปแบบหลากหลาย เราพร้อมให้การดูแลผู้ฝากเงิน ถ้ามีมากกว่า 1 ล้านบาท สามารถฝากเงินได้หลายๆธนาคาร หรือ สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น อย่าเก็บเงินไว้ในออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ดีที่สุด คือ ย้ายไปฝากประจำบ้าง