“ผยง”กรุงไทย ชู ESG – เมกะเทรนด์ หนุนศก.โตยั่งยืน รับความท้าทายใหม่
ผยง กรุงไทย อนาคตข้างหน้าโลกจะให้ความสำคัญกับ EGS และเมกะเทรนด์มากขึ้น ซึ่งเป็นหนทางอยู่รอด และหนุนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงาน สัมมนา Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม
Episode III : New World, New Value ปฏิวัติการลงทุนสู่โลกใหม่ ที่จัดขึ้นโดย หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนที่มีความแตกต่างหรือไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในมิติของธุรกิจขนาดเล็กเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจดั้งเดิมเทียบกับธุรกิจที่ก้าวกระโดดไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือในมิติที่คนส่วนใหญ่ของโลกยากจนลงเทียบกับคนจำนวนน้อยที่ทรัพย์สินทางการเงินอย่าง cryptocurrency ปรับตัวสูงขึ้นมาก
ขณะที่ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตหรือนวัตกรรมทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่ยังขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มและภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นมิติเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของคนแต่ละกลุ่ม การไปช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจรายย่อย รวมไปถึงการสร้าง incentive ในการการรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโลก เป็นต้น
และ เมื่อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ปัญหาที่กล่าวมานี้เผยอาการให้เห็นอย่างชัดเจนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น กรอบแนวคิดด้าน “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG) จึงได้ถูกยกให้เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งกับแนวทางดำเนินพันธกิจองค์กร รวมถึงภาคการเงินเองซึ่งจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมทิศทางการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจให้สอดคล้องกับประเด็นข้างต้น
ขณะที่ การพัฒนาการของเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech มีศักยภาพอย่างมากที่จะสามารถเข้ามาสร้างคุณค่าให้กับสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยเร่งความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศให้เกิดได้เร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดย FinTech ได้เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้างและพลิกโฉมโลกการเงินนั้น คลื่นลูกแรกที่เปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมการเงินของคนไทย คือ ระบบพร้อมเพย์ และมาตรฐาน QR Code ซึ่งทำให้การโอนรับเงินทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและในต้นทุนต่ำ ธุรกรรม Mobile banking ในช่วงของการเกิดโควิดในปี 2020 พุ่งขึ้นมากถึง 81% ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกปี 2021 ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 68%
ขณะที่คลื่นลูกต่อไปอาจเป็น Smart Financial and Payment Infrastructure ที่จะลดต้นทุนและแก้ painpoint ให้กับธุรกิจรายย่อย ส่วนในอนาคตอาจเป็นมิติใหม่ของการเงินในรูปแบบ DeFi หรือ Decentralized Finance
ซึ่งหมายถึงการเงินที่ไร้ตัวกลาง การใช้สกุลเงิน Digital ของธนาคารกลาง รวมไปถึงการนำธุรกรรมต่างๆ ไปอยู่บน smart contract เป็นต้น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงิน ก็ได้ทำให้ FinTech company กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามามีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นในโลกการเงิน ทั้งในมุมการตอบรับจากผู้บริโภค
สะท้อนจากผลสำรวจชาวอเมริกันของ McKinsey ในปี 2020 พบว่า 42% ใช้บริการด้านการเงินของบริษัท FinTech ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
โจทย์ที่สำคัญคือ เราจะใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีการเงิน และ FinTech company ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในทุกวงการ ในการสร้างคุณค่าให้กับโลกของเราทั้งในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไรได้บ้าง?
ซึ่งมองว่า มี 4 มิติ ได้แก่ 1. การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2. การสร้างโอกาสในการออมและการลงทุน 3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ 4. การดำเนินนโยบายรัฐที่ตรงจุดและโปร่งใส
มิติแรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งตั้งแต่ก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 ก็เผชิญปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่แล้ว
โดยงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าในปี 2561 มี SMEs เพียง 5.2 แสนราย หรือ 17% ของ SMEs ทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์
ขณะที่วิกฤตโควิด-19 กระทบให้สถานะการเงินและการดำเนินธุรกิจของ SMEs ย่ำแย่ลง สะท้อนจากยอดสินเชื่อ SMEs ที่ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่มากถึงกว่า 8 แสนล้านบาท (ไม่รวม SFI ณ 31 สิงหาคม 2564) ซึ่งมีนัยต่อ Credit risk ที่สูงขึ้น ซ้ำเติมความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะในระบบที่อิงกับหลักประกันหรือ Cash flow ในบัญชี
ซึ่งจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันกับรายใหญ่ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วกว่า มากขึ้น
ซึ่ง Financial Technology & Innovation สามารถช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น P2P Lending หรือธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอาศัยเทคโนโลยี AI และ Data analytics อยู่เบื้องหลัง
มิติที่สอง การสร้างความยั่งยืนจากโอกาสในการออมและการลงทุน : ปัญหาการมีเงินออมไม่เพียงพอและมีภาระหนี้สูง ยังคงเป็นประเด็นความท้าทายด้านการเงินส่วนบุคคลของคนไทย ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนไทย 5.8 ล้านครัวเรือน หรือ 27.1% ของครัวเรือนทั้งประเทศ ไม่มีเงินออม และเมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมคนไทยพบว่า 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม คนไทย 38.5% ออมไม่แน่นอน มีเพียง 22.6% เท่านั้นที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้
นอกจากนี้ข้อมูลของการสำรวจประชากรสูงอายุของประเทศไทย พบว่า ในช่วงหลังเกษียณผู้สูงอายุ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน ขณะที่ 31% ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และมีเพียง 2.3% ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากเงินออม
สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย อาจมีความเสี่ยงให้ต้องเผชิญเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต จากการมีเงินออมสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอหากหยุดทำงาน
ซึ่ง Financial Technology เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนไม่ว่าจะมาจากกลุ่มฐานะใด ก็สามารถเข้าถึงการออมได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนการออมที่น้อยลง และสามารถวางแผนการออมให้สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตของตนได้
มิติที่สาม คือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ การเร่งยกระดับประสิทธิภาพการฟื้นฟูผลการดำเนินงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ คืออีกโจทย์ท้าทายของประเทศไทย เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้ล่าสุด World Bank ได้จัดสถานะความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (The ease of doing business) ในประเทศไทยให้อยู่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก
แต่ก็ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 ขณะที่มีบางด้านที่ควรเร่งปรับปรุงเพราะยังทิ้งห่างหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะด้านการชำระภาษี (อันดับ 68) ด้านการค้าระหว่างประเทศ (อันดับ 62) และด้านการได้รับสินเชื่อ (อันดับ 48) เป็นต้น
โดย Financial Technology รวมถึง FinTech Startups สามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยติดอาวุธให้ภาคธุรกิจสามารถวิ่งได้เร็วและไกลขึ้น นอกจากนี้ FinTech ยังช่วยทำให้กระบวนการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ซับซ้อน กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
มิติที่สี่ คือ ความยั่งยืนจากการดำเนินนโยบายรัฐที่ตรงจุดและโปร่งใส ภาครัฐถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชนมีความซบเซาลง และงบประมาณภาครัฐกลายเป็นหนึ่งในกลไกหลักในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างตรงจุดและมีความโปร่งใสจึงเป็นประเด็นสำคัญมากที่เทคโนโลยีการเงินสามารถเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้
ซึ่ง Financial technology จะเป็นเครื่องสำคัญที่ช่วยลดการคอร์รัปชั่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด ได้
สำหรับในประเทศไทยนั้น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้เร่งให้การนำเอา FinTech เก่งๆในประเทศไทย มาร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือของภาครัฐสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งถือเป็น Thailand Open Digital Platform มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 33 ล้านคน (ณ เดือนตุลาคม 2564)
เพื่อรับความช่วยเหลือหรือใช้บริการจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชิมช๊อปใช้ เรารักกัน ม.33 คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ถือเป็นการนำนวัตกรรมดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน
และทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เม็ดเงินจากภาครัฐไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและทันเวลา
รวมเป็นปริมาณเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท และแอพนี้ยังถูกต่อยอดสำหรับใช้รับบริการด้านสาธารณสุขจากภาครัฐ
เช่น การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในโครงการไทยร่วมใจ รวมถึงการใช้ Health wallet เพื่อตรวจสอบข้อมูลสิทธิ และนัดหมายเพื่อรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ ในขณะที่ศักยภาพของเทคโนโลยีการเงินจะถูกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งและดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาสู่โลกของ FinTech มากขึ้น โจทย์ด้านของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและของโลกก็มีความซับซ้อนและมีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ ความร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถดึงพลานุภาพของ FinTech เข้ามาสร้างคุณค่า เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สังคมไทยให้เศรษฐกิจเติบโตบนฐานของความยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามและความไม่แน่นอน และพร้อมปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง