กนอ.ลุยทรานส์ฟอร์ม ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนลงทุน

กนอ.ลุยทรานส์ฟอร์ม ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนลงทุน

กนอ. มีภารกิจพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนภาคการผลิตมาตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบันมีอายุ 49 ปี และเข้าสู่การปรับเปลี่ยนตามแนวทาง Transform to the Sustainable Future ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อผลักดันเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตของอาเซียน

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อน กนอ.ในอนาคต เน้นเร่งดึงดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ กำหนดแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ แผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. และยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีโครงการลงทุนสำคัญ ได้แก่ 

1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผน โดยดำเนินการประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเมื่อเดือน พ.ย.2564 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือน พ.ย.2565

2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างกับบริษัทผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567

“ทิศทางการดำเนินงานในปี 2565 กนอ.จะให้ความสำคัญกับการเร่งดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ผ่านมาตรการทางการตลาดและมาตรการเชิงรุกให้มากขึ้น" 

นอกจากนี้ กนอ.ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เช่น โครงการ Facility 4.0 ในการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม การทำ Digital Twin ระบบบำบัดน้ำเสีย Smart Meter การพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. โดยเฉพาะด้าน IT Digital รวมถึง กนอ.จะแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ในระยะยาวด้วย

รวมทั้งความสำเร็จของ กนอ.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่า บนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจและนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วง ซึ่งส่งผลให้ กนอ.เป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค 

ทั้งนี้ เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศร่วมลงทุนต่อเนื่อง

สำหรับความท้าทายใหม่ในปัจจุบันทั้งโควิด-19 สภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝนและความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ กลายเป็นเรื่องของโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทางในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 

รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG Model ที่ใช้หลักคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ โดยต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อสอดคล้องนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาที่สมดุล

สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยีร่วมกับองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ

“กว่า 49 ปี ที่ กนอ.ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานภายใต้ 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชนและสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics)” 

ทั้งนี้ กนอ.ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม