‘อารักษ์’ SCB ชี้ทางรอดเอสเอ็มอี หนุนใช้เทคโนโลยี-ดิจิทัล พลิกฟื้นธุรกิจ
อารักษ์ ไทยพาณิชย์ ชี้เศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความผันผวนความไม่แน่นอนไปสักระยะ พร้อมความไม่เท่าเทียมไม่ทั่วถึง แนะทางรอดของธุรกิจ ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากดีสรับชัน ใช้เทคโนโลยี ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์(SCB10x)ในหัวข้อ ทางรอดธุรกิจปี 2565 ในงานสัมนา เศรษฐกิจประจำปี 2564 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ “ทางรอด 2022” Survival Guide ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไทยพาณิชย์คาดการณ์จีดีพีปีหน้า จะขยายตัว 3% นิดๆ และเชื่อว่ากว่าจะฟื้นตัวเหมือนระดับก่อนเกิดโควิด-19 อาจต้องรอ 3-4 ปี ดังนั้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะยังซบเซา ภายใต้ความผันผวนละความไม่แน่นอนที่จะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะ
ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะเป็นลักษณของการฟื้นตัวได้ไม่เท่าเทียม เพราะอุตสาหกรรมไทย มีความพิเศษ จากการพึ่งพาส่งออก ท่องเที่ยวสูง ดังนั้นหากท่องเที่ยวไม่มา อุตสาหกรรมโรงแรม บริการต่างๆก็ยังคงฟื้นตัวช้า ยกเว้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ โซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ที่จะเริ่มกลับมา
ดังนั้นความไม่ทั่วถึงจะยังคงอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น ทั้งโรงแรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือบริษัทใหญ่ เอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งคนที่มีสายป่านยาว ก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วมากกว่า
สถานการณ์หนี้เสียยังเพิ่มต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของภาคสถาบันการเงิน ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีมาตรการภาครัฐ และมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สามารถช่วยลดผลกระทบ จากหนักเป็นเบาได้ ทำให้การดูแลลูกหนี้มีโอกาสฟื้นกลับมาได้ เพราะหากใช้มาตรฐานแบบเดิมๆในการดูแลลูกหนี้ ปล่อยสินเชื่อ คงมีความยากลำบากต่อลูกหนี้แน่นอน ดังนั้นถือว่าการมีมาตรการเป็นสิ่งที่ดีกับผู้ประกอบการ
ดังนี้ ขณะนี้ เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน จากการเยียวยา สู่การฟื้นฟู ดังนั้นหวังว่าระยะข้างหน้า จะเห็นผู้ประกอบการ ที่จะฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็พร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันคิดเป็นราว 90% ของธุรกิจที่มีอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นกลุ่มที่มีความท้าทายอยู่แล้ว ก่อนเกิดโควิด-19 บางรายอยู่ในซัพพลายเชนขั้นปลาย และมีขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกไม่ได้สูงมาก ดังนั้นเหล่านี้คือความท้าทาย
“จากวิกฤติที่เกิดขึ้น หลายภาคส่วนมีบทบาทสำคัญ ภาครัฐก็เข้ามาช่วย เช่นการสนับสนุนด้านสินเชื่อหลายรูปแบบ เพื่อทำให้เอสเอ็มอีต่างๆสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ทำให้ธนาคาร มีโอกาสมองลูกหนี้มีมุมที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงลูกหนี้ได้ ซึ่งเราพยายามเต็มที่ เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเศรษฐกิจ เพราะเราตระหนักดีว่า หากเอสเอ็มอีไม่รอด ทั้งประเทศก็ไม่รอด”
เทคโนโลยีหนทางอยู่รอดของธุรกิจ
ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้ หัวใจสำคัญ คือ เทคโนโลยี เพราะวันนี้ภายใต้โลกที่หมุนไปเรื่อยๆ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยี ถือเป็นบทบาทสำคัญ ที่จำเป็นทั้งในชีวิตประจำและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นควรนำเทคโนโลยี มาใช้ ทั้งขั้นต่ำ คือ นำมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ ในการช่วยลดต้นทุน ในการดำเนินธุรกิจ
แต่หากให้ดีกว่านั้น ควรเอามาต่อยอดในการทำธุรกิจ ให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สามารถเข้าถึงลูกค้า วิเคราะห์ และเข้าใจลูกค้าได้เพิ่มขึ้นจากประโยชน์ของเทคโนโลยี
ดังนั้น เทคโนโลยี จะถือเป็น จุดเปลี่ยนของเมืองไทย ของธุรกิจได้ เพราะหากยังใช้กลไกการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ใช้คนเป็นกลไกหลัก โอกาสในการฟื้นตัวของธุรกิจกลับมาคงทำได้ค่อนข้างยาก ขีดความสามารถแข่งขันไม่มีแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยี มาใช้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น
ซึ่งเชื่อว่า บริษัทที่จะประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดี จะประสบความสำเร็จ จะเป็นคนอยู่ที่รอดได้ แต่คนที่ไม่ได้ใส่ใจมาก จะเจอกับความท้าทาย และสุดท้าย อาจไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้
พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
สำหรับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น อยากให้มองเชิงบวกให้ได้ และให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพราะจะเสียดายมาก หากประเทศไทยตื่นมาอีกครั้ง แล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจังหวะนี้สำคัญมาก ในการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า
เช่นเดียวกันกับไทยพาณิชย์ ที่ 2 เดือนก่อน มีการประกาศปรับองค์กรครั้งใหญ่ จากองค์กรที่มีอายุกว่า 115 ปี แต่วันนี้ ไทยพาณิชย์ตื่นมา แล้วบอกว่า เราจะเป็นไฟแนนเชียลเทคโนโลยีคอมพะนีแล้ว ไม่ใช่ธนาคารอย่างเดียว
ทุกองค์กรต้องคิดใหม่รับการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เราจึงต้อง reimagine หรือคิดใหม่ หลายอุตสาหกรรมต้อง คิดใหม่ ว่าตัวเองจะเป็นอะไรใน 5 ปีข้างหน้าจากนี้ และใช้จังหวะนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีจังหวะจากดิสรับชั่น
ดังนั้นความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงจะมีสูง ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ประชาชน ธุรกิจ จะมีความพร้อมขึ้นมาก ในการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เพิ่มขีดความสามารถ และต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆเข้ามา ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญ เพื่อใช้โอกาสนี้ ในการอยู่รอดให้ได้