IMH พลิกเกมสู้จับ “คนไข้โควิด” ปี 65 จ่อ M&A รพ.เพิ่ม
“โรงพยาบาล” ธุรกิจใหม่พลิกกำไร หลังปรับโมเดลสู้ “โควิด-19” ยาวนาน ฟากแม่ทัพใหญ่ “ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์” เผยปี 2565 มีเซอร์ไพร์สชัวร์ !! เหตุกำลังคุย 1-2 ราย จ่อปิดดีลเทคโอเวอร์ รพ.เพิ่ม
เมื่อธุรกิจดั้งเดิมที่คลุกคลีมาตลอด... ของ บมจ. โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ หรือ IMH ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ ! นับตั้งแต่ปี 2563 มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ภาครัฐต้องงัดมาตรการ “จำกัดการเดินทาง” หรือ “การปิดเมือง” (ล็อกดาวน์) ส่งผลกระทบต่อ “บริการทางการแพทย์แบบเชิงรุกนอกสถานที่” (Mobile Checkup) ที่ไม่สามารถเดินทางไปถึงลูกค้าได้
สะท้อนผ่านผลการดำเงินงานปี 2563 “พลิกขาดทุน” จำนวน 16.61 ล้านบาท เนื่องจากการจำกัดการเดินทางทำบริษัทไม่สามารถเดินทางไปถึงลูกค้าได้ แม้บริษัท “ปรับกลยุทธ์” หาช่องทางรายได้อื่นๆ เช่น รายได้จากการให้บริการตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 และรายได้ค่าบริการตรวจคัดกรอง แต่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้จากการตรวจสุขภาพที่ “ลดลง” ได้
จากปัญหาดังกล่าว ! “ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ หรือ IMH ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า บริษัทตัดสินปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ “ธุรกิจโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย” พร้อมชู “จุดเด่น” เป็นโรงพยาบาลรับรักษาโควิดแบบครบวงจร พร้อมรับมือเสี่ยงระบาดรอบใหม่
สะท้อนผ่านต้นปี 2564 บริษัทตัดสินใจ “เข้าซื้อกิจการ” (M&A) ในธุรกิจ “โรงพยาบาลประชาพัฒน์” ขนาดใหญ่จำนวน 100 เตียง มูลค่า 161 ล้านบาท ถือเป็นการ “สร้างโอกาสการเติบโตใหม่อีกครั้ง” ทั้งในแง่รายได้และกำไรให้อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านงวด 9 เดือนปี 2564 มีกำไรสุทธิ 283.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 307.10 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หลังสามารถขยายขอบเขตงานกลุ่มธุรกิจการให้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมเดิมเน้นให้บริการตรวจสุขภาพไปสู่การบริหารโรงพยาบาลทั่วไป
และจากการปรับกลยุทธ์มาเป็นโรงยาบาลโควิดแบบครบวงจร ที่มีศักยภาพพร้อมรับมือในการให้บริการตรวจโรคและรักษาโควิดในทุกๆ รอบอย่างต่อเนื่อง และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีผู้เข้ารับบริการตรวจเชื้อโควิด และมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประชาพัฒน์เป็นจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับกลุ่มหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ และ ประชาชนทั่วไป
“จากการมีรายได้จากการรักษาพยาบาลที่มีความมั่นคงเข้ามา และยังเป็นการลดความผันผวนของรายได้จากผลกระทบ Seasonal Effect ที่อิงจากการรับรู้รายได้จากกลุ่มลูกค้าหลักในการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของทุกปี”
เขา บอกต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของแผนธุรกิจปี 2565 ว่า ทาง IMH ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ในการสร้างรายได้จากการให้บริการด้านโควิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรับฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทุกประเภท ให้มากกว่า 1,000,000 โดส ควบคู่กับการเตรียมเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคผู้ป่วยหลังโควิด (Post-Covid) เช่น โรคปอดติดเชื้อ , โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อดึงกลุ่มผู้ป่วยจากภาวะหลังป่วยโควิดเข้ารักษา ในโรงพยาบาลต่อเนื่อง
และ แผนขยายกิจการโรงพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย โดยเบื้องต้นคาดว่าภายในไตรมาส 1 ปี 2565 จะสามารถสรุปดีลดังกล่าวได้ คาดใช้เงินลงทุนไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นรพ.ขนาด 100 เตียง ซึ่งหากดีลดังกล่าวแล้วเสร็จจะส่งผลให้ IMH มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้มีแผนในการจะดันโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ให้ขยายฐานคนไข้สิทธิ์บัตรทอง , สิทธิ์ประกันสังคม และคนไข้ภายใต้การดูแลเพิ่มขึ้น จากประมาณ 100,000 คน เป็น 200,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีแผนในการนำโรงพยาบาลประชาพัฒน์ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบันได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในช่วงปลายปี 2565 อย่างไรก็ตามจากแผนการต่อยอดธุรกิจในข้างต้น ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้าอัตราการเติบโตรายได้รวมในปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 1,000 ล้านบาท
สำหรับ “กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย” ในการให้บริการตรวจสุขภาพ สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้มีการจ้างงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น โดยธุรกิจให้บริการทางแพทย์และบริการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของบริษัท และบริษัทย่อยมีการให้บริการลูกค้าทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของลูกจ้างให้ดีขึ้น
เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์ด้านการให้ปรึกษาด้านอาชีวเวชศาสตร์ และความเข้าใจในการออกผลรายงานการตรวจสุขภาพปัจจัยเสี่ยง โดยลูกค้าของบริษัทจะนำรายงานการตรวจสุขภาพของบริษัทยื่นต่อผู้ตรวจสอบ โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทและบริษัทย่อยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ
เช่น ภาคตะวันออก บริเวณโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เป็นต้น ภาคกลาง ซึ่งประกอบไปด้วย นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เป็นต้น
ท้ายสุด “ดร.สิทธิวัตน์” บอกไว้ว่า การขยายขอบเขตงานในกลุ่มธุรกิจการให้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่บริษัทเน้นให้บริการตรวจสุขภาพและตรวจสุขภาพอาชีวอนามัย เป้าหมายในอนาคตกำลังต่อยอดโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ให้แข็งแกร่ง หวังปูทางเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นปีหน้า