ปตท.ลุยลงทุน5ปี “แสนล้าน” พลิกสู่พลังงานแห่งอนาคต
"ปตท." กางแผนลงทุน 5 ปี ร่วมดัน "เศรษฐกิจไทย" โต เตรียมลงทุนในอนาคตอีก 2.38 แสนล้าน สร้างงาน-รายได้ให้คนในประเทศไทย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่ปี 2564 มีการระบาดระลอก 2-3 อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่การเข้ามาของสายพันธุ์โอมิครอนก็ยังสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วน ทั้งนี้ ปตท.ยังมีความมั่นใจว่าในผลดำเนินงาน รวมถึงพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุน New S-Curve
“จากการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน แน่นอนว่า การจะดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ ปตท.จะต้องมีความเข้มแข็งทางธุรกิจก่อน ปตท.สร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโต และต่อยอดธุรกิจใหม่ และดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล” นายอรรถพล กล่าว
สำหรับการวางแผนในการขยายธุรกิจตามทิศทางวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” โดยวางแนวทางการลงทุนใน “Future Energy and Beyond” ไว้ 30% เพื่อได้สัดส่วนกำไรไม่ต่ำกว่า 30% และปรับพอร์ทการลงทุน มุ่งเน้นธุรกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมขับเคลื่อนแผนลงทุน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าแผนการลงทุน 5 ปี (2565-2569) อยู่ที่ 102,165 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนในหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 45% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 20% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 2% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 8% และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น (100%) 25%
นอกจากนี้ ปตท.พร้อมเดินหน้าลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า ด้วยการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Businesses) เพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 ซึ่งนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาแยกเป็นผลิตภัณฑ์อีเทนและแอลพีจี
รวมถึงถังเก็บผลิตภัณฑ์อีเทนและสถานีรับจ่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อีเทน รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 ทั้งยังมีการลงทุนผ่านบริษัท ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อาทิ การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า อีกจำนวน 238,032 ล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาด
ประกอบด้วยการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โดยวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตลอดจนการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นในการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ) และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากการลงทุนในธุรกิจเดิมเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ปตท.ยังขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และรองรับพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน อาทิ ธุรกิจ Life science (ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
“จะเห็นว่ากลุ่ม ปตท.กำลังอยู่ในช่วงการขยายตัวจากธุรกิจเดิมที่เป็นน้ำมันและก๊าซสู่ธุรกิจใหม่ หัวใจสำคัญของการทรานส์ฟอร์ม เราได้เริ่มแล้วจากการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ กำหนดเป้าหมาย และวางทิศทางกลยุทธ์ที่สอดคล้อง เพื่อเป็นแนวทางให้กับพนักงานทั้งองค์กร สร้างการมีส่วนร่วมกับเป้าหมายใหม่ร่วมกัน สร้างแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันทั้งองค์กร” นายอรรถพล กล่าว
รวมทั้งวางแนวทางในการบริหารจัดการบุคลากรพร้อมกับทำการปรับโครงสร้างองค์กรจัดตั้งสายงานธุรกิจใหม่และปรับการบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ตามแนวทาง Future Energy and Beyond และเตรียมทีมงานให้มีความพร้อม
ทั้งนี้ ปตท.ให้ความสำคัญในการสร้างทีมให้เติบโต เข้มแข็ง โดยใช้หลักการ Upskill-Reskill-New skill เพื่อให้ทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลง สร้างทีมงานที่เสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักเดิม และทีมงานที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ พร้อมกับการสรรหาบุคลากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาเสริม รวมทั้งเปิดรับความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจตามแนวคิด Partnership & Platform โดยเฉพาะในการขยายไปในธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย