"BOI" ชี้ดีมานต์โลกฟื้น หนุนทิศทางลงทุนไทยปี 65
ช่วงปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยมีส่งออกช่วงพยุง แต่การระบาดโควิด-19 เดือน เม.ย.64 ส่งผลให้ภาคการผลิตแรงงานเข้มข้นได้รับผลกระทบ ซึ่งในปี 2565 โควิดสายพันธุ์โอมิครอนยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุน
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในปี 2565 มีการประเมินตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนปี 2565 จะขยายตัว 4.2% โดยมีปัจจัยหนุนด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมถึงการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เร่งให้เกิดการลงทุนจริง อีกทั้งดีมานต์ในหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวดี โดยเฉพาะกลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค อาทิ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนขอส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุน อยู่ที่ความกังวลเรื่องผลิตภาพของแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งภาครัฐได้สนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบออโตเมชั่นในโรงงานมากขึ้น
สำหรับแผนการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 จะมุ่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนทั่วโลก ตามเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กิจการรีไซเคิล
นอกจากนี้ ยังมุ่งดึงลงทุนกลุ่มไบโอเทค อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและการแพทย์ สำหรับอุตสาหกรรม First S-Curve ที่ผ่านมามีการลงทุนได้ตามเป้า ต่อจากนี้จึงต้องการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล Cloud Computing ดิจิทัลเซอร์วิส ซึ่งมีการขยายตัวได้ดีทั่วโลก
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วมูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนปีละ 500,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2564 คาดว่าจะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 600,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ส่งผลกระทบมากนัก และภาวะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ดี เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวเช่นกัน เชื่อว่าจะทำให้ในปี 2565 เกิดการลงทุนจริงไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท
รวมทั้งในปี 2565 บีโอไอจะทบทวนยุทธศาสตร์การส่งเสริมลงทุนใหม่ โดยพิจารณาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาว่ามีมาตรการใดได้บ้างที่ได้รับการตอบสนองดีจากนักลงทุน
นอกจากนี้มีการพิจารณาเรื่อง OECD Tax Rule สำหรับธุรกิจข้ามชาติที่สร้างรายได้จากธุรกรรมออนไลน์โดยไม่มีตัวตนทางกายภาพในประเทศที่รับบริการ เพื่อแก้ปัญหาการโอนกำไรไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จึงต้องมีการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ รวมทั้งปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาร่วมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้มีขีดความสามารถแข่งขันและดึงดูดการลงทุน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมาการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้นจากปี 2563 ที่ตัวเลขการขอส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอลดลงประมาณ 30%
สำหรับภาพรวมคำขอรับส่งเสริมลงทุนในอีอีซี ทั้งปีคาดว่าจะเกิน 200,000 ล้านบาท กลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด โดยช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี อยู่ที่ 173,780 ล้านบาท
ในปี 2565 หลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตและจะดึงการลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเครือข่ายสัญญาณ 5G อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล Data ซอฟต์แวร์เซอร์วิส หุ่นยนต์และออโตเมชั่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่การผลิต เช่น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับบีซีจี และเมดิคอลฮับ โดยในช่วง 5 ปี ข้างหน้าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยขยายการลงทุนอีก 100,000 ล้านบาท
“ตอนนี้นักลงทุนที่เข้ามามีแต่คนที่มองไปข้างหน้า กลุ่มบริษัทรถยุโรปที่เข้ามาคุยกับเรา ให้ความเห็นว่าต่อไปนี้รถอีวีจะไม่ใช่ทางเลือก แต่จะเป็นทางออก โดยบริษัทรถสัญชาติยุโรปดังกล่าวจะมีการปรับการผลิตเป็นรถอีวีทั้งหมด ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ฝั่งญี่ปุ่นก็เริ่มปรับแล้วเช่นกัน แล้วยังมีผู้เล่นใหม่จากจีนเข้ามาลงทุนอีวีเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นโชคดีที่เราจับเทรนด์นี้ไว้ได้ทันจึงสามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้”
นอกจากนี้ ยังมี “แพ็คเกจรถอีวี” ที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ม.ค.2565 เพื่อประกาศเป็นนโยบายส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การขยายลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ในอีอีซีเริ่มมีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในกลางปีหน้ากว่า 300 แห่ง และอีอีซีจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยอีก 5 ปี จะมีปริมาณการผลิตรถอีวีได้ 50% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
ส่วนการต่อยอด “อุตสาหกรรมดิจิทัล” เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าจับตามอง เพราะสัญญาณเครือข่าย 5G ซึ่งติดตั้งกระจายสัญญาณครอบคลุมพื้นที่อีอีซีแล้ว 100% ซึ่งจะสามารถขยายการลงทุน ยกระดับโรงงานอัจฉริยะด้วยการใช้ระบบสายการผลิตออโตเมชั่นให้กับโรงงานไทยกว่า 9,000 แห่ง เป็น Industry 4.0 เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง 30% และเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตในโรงงานกับเครือข่ายทั่วโลก
“สิ่งที่เราโฟกัสไม่ใช่การแข่งเรื่องเดิมกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นการก้าวไปข้างหน้าให้เร็วเพื่อจับกระแสทำเรื่องใหม่แทน”
สำหรับภาพรวมการลงทุนในอีอีซี ใน 5 ปีข้างหน้ามีเป้าจะหาเงินลงทุนให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นปีละ 400,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยขยับจีดีพีขึ้นจากฐานเดิม 1.5-2% ทำให้จีดีพีประเทศโต 4.5-5%