รัฐบาลเคาะใช้เงินกู้ฯ1.4 พันล้านซื้อแอสตร้า 10 ล้านโดส ตามแผนวัคซีนเดิม
รัฐบาลใช้งบฯเงินกู้ฯอีก1,400 ล้าน ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 10 ล้านโดสตามแผนจัดซื้อจัดวัคซีนเดิม ส่งผลเงินตามบัญชีที่ 1 เหลือแค่ 118 ล้านบาทเศษ จากวงเงินทั้งหมดที่อนุมัติแล้ว 1.1 แสนล้าน คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯให้สธ.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมโยกเงินหากจำเป็น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ที่มีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานให้อนุมัติวงเงิน 1,416.54 ล้านบาท ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 10,468,100 โดส โดยสั่งซื้อจากบริษัทแอสตร้า เซเนก้า ประเทศอังกฤษ โดยใช้เงินจากบัญชีแนบท้ายแผนงาน/โครงการที่ 1 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้การอนุมัติให้กรมควบคุมโรคสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้าในจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารวม 61 ล้านโดสที่ประเทศไทยมีสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ในการสั่งซื้อวัคซีนในจำนวนดังกล่าว และเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากที่สุด
ทั้งนี้เมื่อ ครม.อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ตามบัญชี/แผนงานโครงการที่ 1ให้จัดซื้อวัคซีนเป็นวงเงิน 1416.54 ล้านบาท จะทำให้วงเงินที่เหลือตามบัญชีที่ 1 เพียง 118.57 ล้านบาทเท่านั้นจากวงเงินตามบัญชีฯที่มีการปรับเปลี่ยนมาต่อเนื่องรวมเป็นวงเงิน 1.1 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ฯ จะต้องเสนอพิจารณาตามขั้นตอน โดยขณะนี้มีเงินกู้คงเหลือประมาณ 1.57 แสนล้านบาท แบ่งเป็นแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 การเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการ 6.91 หมื่นล้านบาทเศษ และบัญชีแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 การกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ประมาณ 8.99 หมื่นล้านบาท
โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องโอนจากสองบัญชีนี้ไปสู่บัญชีที่ 1 เพื่อใช้ด้านสาธารณสุขก็สามารถที่จะทำได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่าได้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฯเพิ่มเติม พ.ศ.2564 เป็นวงเงินรวม 2.018 แสนล้านบาท คิดเป็น 58.95% ของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งหมด 25 โครงการ จาก 43 โครงการที่ ครม.อนุมัติไปก่อนหน้านี้