Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 January 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 January 2022

ราคาน้ำมันดิบทรงตัว จากความต้องการใช้น้ำมันแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติและอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล                

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 January 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 - 14 ม.ค. 65)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ราคายังคงทรงตัวอยู่ระดับสูง จากปัญหาการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคพลัสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด จากปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกบางประเทศ ท่ามกลางมติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
       

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังคงได้รับแรงหนุน จากราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงจากปัญหาการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น 

- ตลาดจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันทั่วโลกวันที่ 5 ม.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านราย ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 190% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของยอดผู้ติดเชื้อรายวันในเดือน ธ.ค. 64 ที่ 0.7 ล้านราย อย่างไรก็ตาม อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาในอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) ของหลายประเทศยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกก่อนหน้านี้

-  กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบจำนวน 109 ล้านตัน สำหรับโรงกลั่นเอกชน 42 ราย ในการประกาศโควตารอบแรกของปี 2565 ซึ่งโควตารอบแรกของปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าโควตารอบแรกของปี 2564 อยู่ 11% โดยรัฐบาลจีนจัดสรรโควตาราว 40% ให้กับบริษัทรายใหญ่ 3 ราย มากกว่าโควต้าที่มอบให้กับโรงกลั่นขนาดเล็ก (Teapot) เพื่อพยายามควบคุมการหลีกเลี่ยงภาษีของกลุ่มโรงกลั่น Teapot และควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษของประเทศ
 

 

 

 

 

 

 

 

-  กลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปคพลัส มีมติคงแผนเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือน ก.พ. 65 ที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 4 ม.ค. 65 เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันในช่วงระยะสั้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 1/65 ยังไม่เข้าสู่สภาวะเกินดุลมากนัก แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตก็ตาม โดยทางกลุ่มจะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างต่อเนื่องและการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 65 
-  อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคพลัส ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดเนื่องจากปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิก เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งประเด็นทางการเมืองในประเทศ ขณะที่กำลังการผลิตของเอกวาดอร์ในเดือน ธ.ค. 64 อยู่แค่ระดับ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปกติที่ 0.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัญหาการกัดเซาะของท่อขนส่งน้ำมันดิบ นอกจากนี้การประชุมหารือเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านยังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ว่าจะมีการกลับมาประชุมระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม 
-  บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 586 แท่น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ในปี 2564 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 235 แท่น 
-  สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2565 ประจำเดือน ธ.ค. 64 ลดลง 2% จากการคาดการณ์ในรอบก่อนหน้าในเดือน พ.ย. 64 จาก 73.31 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 71.38 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปี 2565
-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีน เดือน ธ.ค. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน ธ.ค. 64 ดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 64 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ม.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 78.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 81.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 417.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่กลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตรหรือโอเปคพลัสมีมติคงแผนการปรับเพิ่มการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับการผลิตในเดือน ก.พ. 65 ตามข้อตกลง เนื่องจากทางกลุ่มเห็นพ้องว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบต่อตลาดไม่มากนัก