ก๊าซหุงต้ม-ค่าโดยสารพุ่ง ผลักรายจ่ายคนไทยเพิ่ม 

 ก๊าซหุงต้ม-ค่าโดยสารพุ่ง ผลักรายจ่ายคนไทยเพิ่ม 

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งจากราคาหมูที่แพงเกือบเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา ซ้ำเติมด้วยแผนพลังงานที่นำไปสู่การปรับราคา “ก๊าซแอลพีจี หรือ ก๊าซหุงต้ม" เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันและล่าสุดค่าโดยสารเรือคลองแสนแสบจะต้องปรับอีกระยะละ 1 บาท

ในการประชุมคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่จะมีขึ้นวันที่ 11 ม.ค.2565 มีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน นั้นคาดว่าจะพิจารณาการดูแลราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนหรือ LPG ที่จะหมดมาตรการตรึงราคาที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในสิ้นวันที่ 31 ม.ค.2565 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การพิจารณาราคา LPG ในครั้งนี้ ค่อนข้างหนักใจ เนื่องจากขณะนี้ ค่าครองชีพภาคประชาชนได้ปรับขึ้นต่อเนื่อง จะเห็นได้ชัดเจนคือเนื้อหมู และไข่ไก่ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเงินเฟ้อ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดทำแนวทางการทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นLPG เบื้องต้นไว้ 3 ครั้ง ปรับขึ้นไตรมาสละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาด หรือจนถึงปลายปี25665 ขึ้นไปประมาณกิโลกรัมละ 3 บาท จากปัจจุบัน 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม 

จะทำให้กรอบราคาขายปลีกLPG อยู่ที่ราว 363 ต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือขึ้นไปประมาณ 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมทำให้กองทุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีแอลพีจีปัจจุบันติดลบ 23,178 ล้านบาท จนสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 5,945 ล้านบาท หรือติดลบเดือนละ 1,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากกบง.ปรับขึ้นราคาครั้งนี้จะปรับจาก 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15.3104 บาทต่อกิโลกรัม หรือจาก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 จาก 15.3104 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 16.2450 บาทต่อกิโลกรัม หรือจาก 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมเป็น 348 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และครั้งที่ 3 จาก 16.2450 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม หรือจาก 348 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 

“แนวทางทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบกบง. หารือร่วมกัน เพราะคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องประชุมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้มติที่จะออกมาส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนให้น้อยที่สุด” แหล่งข่าว กล่าว

ด้านค่าใช้จ่ายคนไทยแม้จะเป็นเฉพาะคนในกรุงเทพเท่านั้น แต่ก็เป็นผลสะท้อนทิศทางค่าครองชีพโดยรวมที่จะเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การขอปรับขึ้นราคาของ บริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด เป็นการปรับขึ้นตามเงื่อนไขในประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563 ในการกำหนดราคาค่าโดยสารแบบคงที่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประกาศคณะกรรมการเรือประจำทางปี 2559 กำหนดให้ค่าโดยสาร สามารถปรับขึ้นลงตามอัตราราคาน้ำมัน ซึ่งในเดือน มี.ค.2563 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 24 บาท และมีอัตราค่าโดยสารของเส้นทางคลองแสนแสบ เริ่มต้นที่ 8 บาท

จากสถานการ์โควิด-19 ผู้โดยสารลดลงเหลือ 10% ทำให้การเดินเรือประจำทางประสบภาวะขาดทุนหนักมาก กรมเจ้าท่าจึงอาศัยอำนาจตาม พรบ.ฉุกเฉิน ออกประกาศกรมเจ้าท่าที่ 68/2563 ในการกำหนดราคาค่าโดยสารแบบคงที่ เพื่อให้สามารถผู้ประกอบการเดินเรือ รักษาการให้บริการได้ต่อไป โดยให้ใช้อัตราค่าโดยสารที่ระดับราคาน้ำมันเกิน 25 บาท เป็นกรอบในการจัดเก็บ ซึ่งในเส้นทางแสนแสบจะเริ่มต้นที่ 9 บาท

ทั้งนี้ บริษัทครอบครัวขนส่ง ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ขอปรับราคาค่าโดยสารระยะละ 1 บาท หลังจากบริษัทได้ตรึงราคาค่าโดยสารเป็นเวลานาน 636 วัน ขอขึ้นระยะละ 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2565 เป็นต้นไป

จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย้ำแย่แต่รายจ่ายกลับพบว่าเพิ่มขึ้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการให้ภาระประชาชนลดน้อยที่สุดเพื่อให้คนไทยรอดได้จากภัยโควิดและภัยเศรษฐกิจในขณะนี้