กนง.ส่องเศรษฐกิจไทยปี65ฟื้น หวัง‘โอมิครอน’กระทบครึ่งแรก
คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีความหวังว่า การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะสิ้นสุดในครึ่งแรกของปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องในภาพรวม แต่ในระยะสั้นต้องจับตาโควิด โอมิครอน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกัน ตลาดแรงงานยังเปราะบาง และยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ
สำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้ ทำให้ กนง. ปรับลดจีดีพีมาเหลือ 3.4% จาก 3.9%
โดย ผลกระทบโอมิครอนที่กระทบกิจกรรมในประเทศ เช่น การลงทุนเอกชน การส่งออก การบริโภคในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดลดลงเหลือ 5.6 ล้านคน จาก 6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์โอมิครอนจะมีผลกระทบเฉพาะครึ่งปีแรก 2565 เท่านั้น จากคาดการณ์ปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ปีนี้ แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยว 90% จะกลับมาได้
ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดจีดีพีขยายตัว 4.7% มาจากอุปสงค์ในประเทศ จากท่องเที่ยวที่จะกลับมาราว 20 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้น และจะเห็นช่วงต้นปี เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้
อย่างไรก็ตามแม้ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว แต่รายได้แรงงานยังคงฟื้นตัวช้า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถกลับมาสู่ระดับปกติ ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมา รวมถึงรูปแบบการจ้างงานต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้รายได้แรงงานยังไม่กลับมาฟื้นตัวล้อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โดยสรุปแล้ว กนง.มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีความเสี่ยงจากโอมิครอน โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก ที่มีความเสี่ยงด้านขาต่ำ จากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อ
รวมถึงความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนภาครัฐ ที่มองว่าจะทยอยหมดลงในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมถึงปัญหา ซัพพลายดิสรับชนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากในครึ่งปีแรก ก่อนที่จะกลับมาสมดุลได้ในครึ่งปีหลังปีนี้ และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
ด้าน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ภาพรวมเงินเฟ้อ กนง.ยังมองว่าปรับตัวสูงตลอดช่วงประมาณการ แต่ยังสามารถยึดเหนี่ยวให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายได้
โดยเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจัยด้านอุปทาน ซัพพลายดิสรัปชัน ปัญหาจากการขนส่งสินค้า แต่ประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว ซึ่งจะทยอยเห็นเงินเฟ้อลดลงได้ในครึ่งปีหลัง
โดยคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องจากการสำรวจผู้ประกอบการ ครัวเรือน ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ ที่มองเงินเฟ้อในช่วง 1 ปี และ 5 ปีข้างหน้ายังอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3%
แต่อย่างไรก็ตาม กนง.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และติดตามพัฒนาการความเสี่ยงสำคัญที่กระทบเงินเฟ้อ ทั้งการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ ปัญหาซัพพลายดิสรับชัน และความเสี่ยงของราคาน้ำมันดูไบที่ต้องติดตามใกล้ชิด
“เงินเฟ้อที่สูง วันนี้เรามองว่า มาจากปัญหาอุปทาน เราจะมองข้ามไป เพราะขึ้นแล้ว จะหายไป ทยอยลดลง ไม่คุ้มกับการดึงเศรษฐกิจให้ลงมา เพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงเกินไป ดังนั้นซัพพลายช็อกที่สูงขึ้น มองว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่ยืดเยื้อ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องเงินเฟ้อ และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด”
สำหรับเครื่องมือที่จะเข้ามาดูแลเงินเฟ้อ หากจำเป็น การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือหลัก แต่สิ่งที่คาดหวัง คือการสื่อสาร ที่เราพึ่งพาและใช้เป็นหลักในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทำมาตลอด 20 ปี ที่สร้างความน่าเชื่อถือ ให้สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับเหมาะสม 1-3% หากตราบใดที่เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ เชื่อว่าจะสามารถลดทอนปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ระดับหนึ่ง
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. มองว่า กรณีที่ต่างประเทศมีการปรับนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้กนง.ต้องปรับนโยบายการเงินโดยการขึ้นดอกเบี้ยตาม เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. เน้นให้ความสำคัญ 3 ด้านเป็นสำคัญ ทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน และเงินเฟ้อ ในการใช้ดูแลเสถียรภาพ และใช้ดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตไปในระยะข้างหน้า ไม่ได้ดูเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
อีกทั้งมองว่า การใช้นโยบายดอกเบี้ย จำเป็นต้องดูตามสถานการณ์ บนการพิจารณาถึง ต้นทุนมี และประโยชน์ และมองว่าบางปัญหาต้องแก้ให้ตรงจุดมากกว่า เช่น ปัญหาขาดสภาพคล่อง ที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเข้าไปดูแล มากกว่าการลดดอกเบี้ย ที่อาจเป็นมาตรการที่ตรงจุดมากกว่า
“กนง.ยังคงให้น้ำหนักการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และติดตามความเสี่ยงต่างๆอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีความเสี่ยงมากขึ้น กนง.ก็พร้อมในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม หากมีความจำเป็น”
นายปิติ กล่าวต่อว่า การประชุมกนง.รอบนี้ คณะกรรมการกนง. มีมติลด การประชุมกนง.มาเป็น 6 ครั้งต่อปี จากเดิม 8 ครั้งต่อปี เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เข้ามาไม่ได้ถี่หรือเคลื่อนไหวเร็วมาก ดังนั้นมองว่าการมีข้อมูลช่วงสั้นๆไม่มีนัยสำคัญต่อการประมาณการเศรษฐกิจมากนัก
ในทางกลับกัน การมีเวลาเพิ่มขึ้น ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ จะทำให้คณะกรรมการสามารถมองข้ามความผันผวน จากข้อมูลระยะสั้นได้ และมีเวลามากขึ้นในการประชุม และสามารถทุ่มเทกับการวิเคราะห์เชิงลึกทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินได้มากขึ้น และเชื่อว่าการลดการประชุม จะไม่ลดทอนประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบาย และหากมีเหตุจำเป็นกนง.ก็สามารถนัดประชุมวาระพิเศษได้
สอดคล้องกับต่างประเทศ ที่มีการลดประชุมลง บางประเทศที่ประชุมน้อยกว่า 8 ครั้ง เช่น นิวซีแลนด์ ลดจาก 8 ครั้ง เหลือ 7 ครั้ง มาเลเซีย จาก 8 ครั้ง เหลือ 6 ครั้ง และ สวีเดน จาก 6 ครั้ง เหลือ 5 ครั้ง นอกจากนี้บางประเทศประชุมน้อยกว่านั้น เช่น สิงคโปร์ประชุม 2 ครั้ง ไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ 4 ครั้ง