"หุ้นไก่" เล้าแตก! "พาณิชย์" สั่งตรึงราคา
เริ่มต้นศักราชใหม่ปีเสือมาได้ไม่กี่วัน เต็มไปด้วยข่าวสารประเด็นร้อนมากมาย จนหลายคนบ่นว่าทำไมเสือตัวนี้ดุจัง ไหนจะสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังครองเมือง ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จ่อทะลุหลักหมื่นคนต่อวัน
อีกประเด็นที่กำลังเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ขณะนี้ คือ ราคาสินค้าที่พาเหรดปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า จนเกิด #แพงทั้งแผ่นดิน กระหึ่มโลกโซเชียล เพราะกระทบต่อทุกคน เนื่องจากเป็นเรื่องปากท้องที่เราต้องกินต้องใช้กันทุกวัน
ไล่มาตั้งแต่ “เนื้อหมู” ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลัก ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน จนตอนนี้ตกกิโลกรัมละกว่า 200 บาท เป็นผลจากต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตที่ลดลง หลังเกิดโรคระบาดในหมู
ล่าสุดกรมปศุสัตว์ออกมาแถลงพบเชื้อ ASF ในหมูเป็นครั้งแรกที่โรงงานในจังหวัดนครปฐม จนต้องประกาศเป็นพื้นที่โรคระบาด ห้ามเคลื่อนย้ายภายในรัศมี 5 กม. ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการที่คุมเข้มขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต ทำให้ประเมินกันว่าราคาเนื้อหมูจะสูงต่อเนื่องไปถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนหรืออาจจะนานกว่านั้น
ด้านสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีกฟองละ 0.20 บาท จากฟองละ 2.80 บาท เป็น 3 บาท หรือ เพิ่มขึ้นแผงละ 6 บาท ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาเจรจาจนยอมลดเหลือฟองละ 2.90 บาท
เมื่อหมูแพง ไข่ไก่ก็ขึ้นราคา ประชาชนเลยหันมาบริโภค “เนื้อไก่” ที่เป็นสินค้าทดแทนมากขึ้น ทำให้ราคาเนื้อไก่ปรับตัวสูงขึ้น ถือว่าเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อความต้องการเพิ่ม แต่ผลผลิตเท่าเดิม ราคาสินค้าย่อมสูงขึ้น
ทำให้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงราคาไก่หน้าฟาร์มและไก่สดเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. นี้ โดยไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม กำหนดราคาไว้ที่ 33.50 บาท/กก., ไก่สด ทั้งรวมและไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาท/กก., น่องติดสะโพก น่อง สะโพก 60-65 บาท/กก. และเนื้ออก 65-70 บาท/กก.
ดูจากราคาอ้างอิงที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด และต่ำกว่าต้นทุนของผู้ประการด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันราคาไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 37-39 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ราวๆ 36 บาท/กก.
ดังนั้นหากต้องขายตามเพดานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เท่ากับว่าต้องขายขาดทุนสถานเดียว สุดท้ายแล้วต้องรอติดตามดูว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริงตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศไว้หรือไม่?
แต่ที่ไม่ต้องรอคือราคาหุ้น เพราะร่วงลงทันทีตั้งแต่มีข่าวออกมา นำโดยบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ที่รายได้หลักมาจากการขายไก่ในประเทศ ถูกเทขายหนัก 2 วันติด 11-12 ม.ค. ดิ่งรวม 7.9%
ส่วนบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ถูกขาย 3.88% ในช่วงวันที่ 12-13 ม.ค. อีกหนึ่งรายใหญ่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ร่วงมา 2 วันเช่นกัน 12-13 ม.ค. รวม 2.76%
ทั้งนี้ หากอ้างอิงข้อมูลจากบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การตรึงราคาไก่เป็นเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไก่ไทย ได้แก่ GFPT, TFG และ CPF ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่ในไทย 70%, 48% และ 10% ตามลำดับ
เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่เป็นขายอยู่ที่ราว 38 บาท/กก. สูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปทางผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก
เช่นเดียวกับ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ที่มองว่าการตรึงราคาไก่หน้าฟาร์มที่ 33.50 บาท/กก. เป็นไปได้ยาก ซึ่งจากการสอบถาม GFPT ถึงเรื่องนี้ บริษัทระบุว่าโดยปกติแล้วไก่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมราคา แต่สามารถขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการดูแลราคาได้
แต่ราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 33.50 บาท/กก. ต่ำกว่าต้นทุนในการเลี้ยงไก่ปัจจุบันที่ 35-36 บาท/กก. จึงมองว่าเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการจะลดราคา
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้มีการวิเคราะห์ Sensitivity ในกรณีเลวร้าย หากต้องตรึงราคาไก่หน้าฟาร์มที่ 33.50 บาท/กก.จริง จะส่งผลกระทบต่อ GFPT ไม่มาก เพราะรายได้จากการขายไก่ในประเทศของบริษัทมาจาก By products เป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวม
ขณะที่รายได้หลักของบริษัทมาจากไก่แปรรูปและการขายไก่เป็นให้ GFN ในราคา cost plus และรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” GFPT ให้ราคาพื้นฐาน 16.10 บาท อิง P/E ปี 2565 ที่ 20 เท่า
คาดผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 จะพลิกมีกำไร หลังขาดทุน 87 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2564 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงมาก ส่วนแนวโน้มกำไรปี 2565 จะเติบโตก้าวกระโดดเป็น 1 พันล้านบาท จากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่ 209 ล้านบาท