กฟผ.ปรับระบบแบตอีวี หวังต่อยอดเชิงพาณิชย์คาดวิจัยสำเร็จกลางปี 65
กฟผ.เร่งศึกษาแบตเตอรี่รถอีวี ที่มีคุณภาพใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ได้กลางปี65 พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีผู้ประกอบการ หนุนทดลองเปลี่ยนรถยนต์คันเดิมให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งแต่ปี 2553โดยผ่านมาได้ดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้งานแพร่หลาย ได้แก่ Nissan Almera และ Toyota Corolla Altis ซึ่งกฟผ.ได้ทดลองใช้งานจริงในเฟสแรกโดยปัจจุบันแบตเสื่อมคุณภาพการใช้งานแล้ว
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับแบตเตอรี่ที่จะจัดหามาใช้ในโครงการ และปรับปรุงให้เหมาะสมในการใช้งานมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรถยนต์ที่จะมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และคาดว่าโครงการวิจัยนี้สามารถดำเนินการได้สำเร็จกลางปี2565”
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาการประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงโดยกฟผ.เอง ด้วยงบประมาณ 1,783,237 บาท ถือเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติงานกฟผ. ได้มีประสบการณ์ในการดัดแปลงอีวี และปรับปรุงพัฒนาอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ให้ดีขึ้น มีระยะเวลาการดำเนินงาน มิ.ย. 2564-พ.ค. 2565 พร้อมกับอบรมเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อนำไปทดลองเปลี่ยนรถยนต์คันเดิมให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อเก็บข้อมูลและปรับปรุงก่อนการขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป
กฟผ. ยังร่วมดำเนินโครงการดัดแปลงรถยนต์แท็กซี่โดยทำสัญญา MOU ร่วมกับสหกรณ์แท็กซี่ราชพฤกษ์ สหกรณ์แท็กซี่บวร และเอกชนรวม 5 คันให้เป็นรถไฟฟ้าและนำไปวิ่งทดสอบประเมินผลเพื่อนำไปขยายผลต่อกับการดัดแปลงรถแท็กซี่ร่วมกันต่อไป และยังมีแผนที่จะขยายผลในการให้องค์ความรู้กับอู่ซ่อมรถ และสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้เร็วขึ้น โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างออกแบบ ระบบแบตเตอรี่ใหม่ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาตำแหน่งวางแบตเตอรี่ให้มีความสวยงามมิดชิดมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด กฟผ.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้า โดยได้ร่วมมือกับสวทช., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ด้วยงบกว่า 11 ล้านบาท ซึ่งกฟผ. จะให้ทุนแก่เอกชน 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท พานทอง กลการ จำกัด บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด บริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ทั้งนี้ เพื่อนำรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของขสมก. มาดัดแปลงเป็นรถโดยสารไฟฟ้า และนำไปวิ่งทดสอบประเมินผล เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลใช้งาน โดยรถทุกคันอยู่ระหว่างการเตรียมการทดสอบวิ่งภาคสนาม
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอรด์ อีวี) วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยมีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน
นอกจากนี้ ได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน