การประเมิน "ESG" ควรต้องทำอย่างไร...?
เมื่อการประเมิน "ESG" ควรต้องตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไปด้วย !!
ปัจจุบัน กิจการที่หวังจะให้การดำเนินธุรกิจของตนได้รับการยอมรับจากสังคม และมีหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุน หนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับการประเมินเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) จากหน่วยงานประเมินภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นกลางในการประเมิน ปลอดจากการแทรกแซงโดยกิจการที่ถูกประเมิน
จากผลการสำรวจหน่วยงานผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG ทั่วโลก พบว่า มีอยู่มากกว่า 600 แห่ง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของตลาด (SustainAbility, 2020)
โดยที่แต่ละสำนักผู้ประเมิน ต่างก็มีระเบียบวิธีและเกณฑ์ที่ใช้ประเมินแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความยากลำบากทั้งกับองค์กรผู้เป็นเจ้าของข้อมูลที่ถูกประเมิน และกับผู้ลงทุน รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจ ในการใช้ประโยชน์จากผลประเมินที่ได้รับ
และปฏิเสธไม่ได้ว่า ในงานวิจัยหลายชิ้น บ่งชี้ว่า ผลประเมินด้าน ESG ของกิจการ จากหน่วยงานผู้ประเมินที่นำมาศึกษา ไม่พบว่ามี สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างผลประเมินในกิจการเดียวกัน ของบรรดาองค์กรผู้ทำการประเมิน
กลายเป็นว่า ผู้ใช้ข้อมูล จำเป็นต้องทำการ “ประเมิน ผู้ประเมิน” (Rate the Raters) ก่อนที่จะนำข้อมูลประเมินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์
ข้อพิจารณา 3 ประการ ในการประเมินผู้ประเมินว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ได้แก่ คุณภาพในการประเมินและกระบวนการประเมิน ประกอบด้วยการพิจารณาเกณฑ์และหลักการที่ใช้ในการประเมิน ความครอบคลุมในการประเมิน ประกอบด้วยปริมาณข้อมูลและประชากรที่ใช้ในการประเมิน รวมทั้งผลลัพธ์ของการประเมิน ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล (Causation) ระหว่างผลการดำเนินงานด้าน ESG กับผลประกอบการและผลกระทบสู่ภายนอก
ตัวอย่างเกณฑ์ในการประเมิน ที่สถาบันไทยพัฒน์นำมาใช้ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ประกอบด้วย
• การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม
• การพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG
• การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรของที่สถาบันไทยพัฒน์ นำมาใช้
และที่สำคัญ การประเมินกิจการด้าน ESG ด้วยชุดประเด็นเดียวกัน โดยปราศจากการคำนึงถึงบริบทของประเภทธุรกิจ จะไม่สามารถสะท้อนผลประเมินตามที่เป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์
ตัวอย่างชุดประเด็นด้าน ESG ที่สถาบันไทยพัฒน์นำมาใช้ในระเบียบวิธีการประเมิน โดยจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ ได้แก่
กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ ประเด็นการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด และประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน ประเด็นความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นการจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และประเด็นนวัตกรรมและการสรรหาวัตถุดิบในการผลิต
กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ประเด็นการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า ประเด็นการบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ ประเด็นการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และประเด็นการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน น้ำ มลอากาศ และของเสีย ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ประเด็นการจัดการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสถานการณ์ฉุกเฉิน และประเด็นการสรรหาวัสดุ
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วย ประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาโครงการ ประเด็นการใช้ที่ดินและผลกระทบทางนิเวศ ประเด็นการจัดการด้านพลังงาน น้ำ และของเสีย ประเด็นความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และประเด็นจริยธรรม และความโปร่งใสในการให้บริการ
กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย ประเด็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย ประเด็นการจัดการผลกระทบทางนิเวศ และชุมชน ประเด็นการเตรียมความพร้อมและแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน/ภัยพิบัติ และประเด็นการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มบริการ ประกอบด้วย ประเด็นประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นการจัดการด้านความปลอดภัยและอุบัติภัย ประเด็นการต้านทุจริตและติดสินบน และประเด็นการบริหารคุณภาพในโซ่อุปทาน
กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย ประเด็นฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ประเด็นการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน ประเด็นพฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นการสรรหาวัสดุ การจัดการโซ่อุปทาน และซากผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ การประเมิน ESG ควรต้องตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไปด้วย ทำให้การระบุความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล ระหว่างผลการดำเนินงานด้าน ESG กับผลประกอบการ จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามในกระบวนการประเมิน ESG ที่ดี