ยื้อคดี “เหมืองทองอัครา” อนุญาโตฯ เลื่อนอ่านคำวินิจฉัย
อนุญาโตตุลาการเลื่อนอ่านคำวินิจฉัยคดีเหมืองทองอัคราอีกครั้ง จากกำหนดเดิมวันที่ 31 ม.ค. 2565 นี้ ยืดเจรจาเพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า รัฐบาลได้รับรายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท คิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถึงในประเด็นที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งห้ามประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตรและ จ.พิษณุโลก ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุญาโตตุลาการ มีกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยตัดสินในวันที่ 31 ม.ค.2565 และล่าสุดได้มีการเลื่อนออกไปอีกครั้ง โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดใหม่
รวมทั้งก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565 ว่า “ยังไม่แน่ว่าในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะมีการตัดสินของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เพราะอาจมีการเลื่อนออกไปอีกก็ได้ ซึ่งครั้งล่าสุดมีกำหนดว่าจะมีการประชุมกันที่สิงคโปร์แล้วก็เลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19”
นอกจากนี้ การอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ได้ถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง และการเลื่อนครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 และส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่มีบางประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม
ย้อนไทม์ไลน์อนุญาโตฯ ยืดเยื้อกว่า 4 ปี
ในช่วงปี 2557-2559 พบปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มประชากรจากการทำเหมืองแร่ โดยทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมืองปรากฏว่าพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%
อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จ้างบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบที่เหมืองชาตรีปรากฎว่าไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น กระทั่งเกิดการแบ่งแยกฝ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนเหมืองทองและต้องการให้ยุติกิจการ ในที่สุดเดือน ธ.ค. 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 ปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป นอกจากนั้น ผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม
ช่วงสิ้นปี 2559 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ได้มีการเจรจากับรัฐบาลไทยแต่ไม่ได้ข้อยุติ จึงตัดสินใจส่งจดหมายแจ้งรัฐบาลใช้สิทธิ์ หารือ (Consultation Process) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และในวันที่ 2 พ.ย. 2560 คิงส์เกตฯ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรื่องการเข้าสู่พิธีการอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ TAFTA
ในปี 2560 รัฐบาลไทยได้มีการตั้งคณะทำงานโดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อสู้กรณีพิพาทเหมืองทองอัคราในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สิงคโปร์
โดยกรมควบคุมมลพิษ พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ได้ตรวจสอบผลกระทบของเหมืองทองกับสิ่งแวดล้อม แถลงผล ไม่พบไซยาไนด์ ในนาข้าว นอกจากนี้คณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 พิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมีมติให้เขียนใบปะหน้าว่าเป็นความเห็นของผู้วิจัยที่ยังมีข้อโต้แย้งจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน โดยให้แนบข้อโต้แย้งในภาคผนวก และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน
ในขณะที่บริษัทอัคราฯ ชี้แจงสื่อมวลชน เห็นแย้งรายงานดังกล่าวเนื่องจากพบข้อขัดแย้งทางวิชาการมากมายจากผลที่คณะผู้วิจัยได้เปิดเผย รวมถึงความไม่เหมาะสมของเครื่องมือและเทคนิคในการตรวจสอบ และการแปลผลอย่างมีอคติ เป็นต้น
ในปี 2562 คิงส์เกต ได้แจ้ง ก.ล.ต. ออสเตรเลียว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยและ คิงส์เกต นัดแรกที่ฮ่องกง จำต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 18-29 พ.ย. เนื่องจากเหตุความวุ่นวายทางการเมือง
และในปี 2564 คิงส์เกตออกมาเปิดเผยว่าการเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อระงับข้อพิพาทเข้าสู่ระยะสุดท้าย แต่บริษัทและรัฐบาลไทยร่วมกันขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชะลอการอ่านคำวินิจฉัยออกไปจนถึง 31 ต.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 ต.ค. 2564 คิงส์เกตได้ออกแถลงการณ์ว่า การเจรจากับรัฐบาลไทยยังไม่สิ้นสุด ทั้งสองฝ่ายจึงขอให้คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนคำตัดสินข้อพิพาทไปเป็นวันนที่ 31 ม.ค. 2565
ซึ่งล่าสุด แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า การเจรจาของทั้งสองฝ่ายยังดำเนินต่อไปก็เพื่อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายที่เห็นว่าหากสามารถเจรจาให้ยุติข้อพิพาทได้ ดีกว่าปล่อยให้มีการออกคำชี้ขาด โดยในการเจรจา ฝ่ายไทยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ การดำเนินการทุกอย่างต้องเสมอภาคเป็นธรรมและเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง