ธนาคารกลางตุนทองสู้เงินเฟ้อ ธปท.ขึ้นแท่นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก
สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำโลกฉบับล่าสุดประจำปี 2564 และไตรมาส 4 ปี 2564 โดยพบว่าภาพรวมการซื้อขายเพิ่มขึ้นทั้งจากฝั่งผู้ลงทุนรายย่อยที่ซื้อเพื่อการบริโภค และจากฝั่งนักลงทุนสถาบัน
โดยเฉพาะความต้องการซื้อของธนาคารกลาง (แบงก์ชาติ) ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี
“แอนดรูว์ เนย์เลอร์” ผู้บริหารประจำภูมิภาค และนโยบายสาธารณะสภาทองคำโลก กล่าวว่า แบงก์ชาติทั่วโลกมียอดซื้อสุทธิทองคำติดต่อกันนานถึง 12 ปี (2553-2564) โดยในปี 2564 เป็นปีที่ปริมาณการซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ 463 ตัน เพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มียอดซื้อสุทธิต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 255 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสุทธิอย่างหนักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ 324 ตัน ก่อนจะแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปีที่ 139 ตัน
ทั้งนี้ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า ในปี 2564 ธนาคารกลางทั่วโลกมีทุนสำรองที่เป็นทองคำรวมกันที่ระดับประมาณ 3.56 หมื่นตัน สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2535
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2564 กลายเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกในที่ 90 ตัน เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่งผลให้ ธปท.มีสัดส่วนการถือครองทองคำที่ 6% ของทุนสำรองทั้งหมด และกลายเป็นแบงก์ชาติที่มีปริมาณการถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการบันทึกมาที่ 244 ตัน
ส่วนถึงแนวโน้มการถือครองทองคำของธนาคารในปี 2565 สภาทองคำโลกคาดว่า แบงก์ชาติทั่วโลก รวมถึง ธปท.จะยังเข้าซื้อทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการเข้าซื้อทองคำเพื่อเก็บเป็นทุนสำรองได้มากขึ้น
อีกแง่หนึ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่เหมาะแก่การกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนของแบงก์ชาติอีกด้วย โดยมีสภาพคล่องการซื้อขายที่สูงระดับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
นอกจากนี้คาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะตัดสินใจเข้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปี 2565 พิจารณาจากสถิติอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำในอดีต พบว่า ในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ หรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 3% อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำมักจะลดลง 7%
ในทางกลับกัน ในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรืออยู่ในระดับมากกว่า 3% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำดีดตัวขึ้นสูงเฉลี่ย 14%
ในส่วนของภาพรวมความต้องการทองคำในปี 2564 ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ความต้องการทองคำรายปีของทั่วโลกในปีก่อน ฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้วที่ 4,021 ตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2563 โดยได้แรงหนุนจากโควิด-19 ที่คลี่คลาย และความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มหันกลับมาซื้อทองคำ
สอดคล้องกับประเทศไทย ที่กลับมามียอดซื้อสุทธิทองคำในปี 2564 ที่ 29 ตัน จากปี 2563 มียอดขายสุทธิที่ 87 ตัน โดยหลักมาจากการปรับฐานของราคาทองในปี 2564 หลังจากที่ปี 2563 ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ส่งผลให้เกิดแรงเทขายออกมา
ทั้งนี้ในปี 2564 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการซื้อทองคำสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปริมาณการซื้อต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ ทั้งยังสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศยุโรป สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการซื้อของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทองคำรูปพรรณ
ขณะที่แนวโน้มความต้องการทองคำในปี 2565 สภาทองคำโลกคาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะยังเห็นความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น โดยมีแรงหนุนทั้งจากการกลับมาซื้อทองคำของผู้บริโภคทั่วไป ภายหลังเชื่อมั่นเศรษฐกิจกลับมาเติบโต และอีกส่วนมาจากความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบัน
แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังประเมินแนวโน้มความต้องการทองคำทั่วโลกได้ยาก เพราะความต้องการจากฝั่งนักลงทุนสถาบันอาจเปลี่ยนแปลงไปจากครึ่งแรก โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และภาวะเงินเฟ้อในตลาด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทองคำยังมีความน่าสนใจลงทุนในปี 2565 เพราะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ดีสำหรับ Hedging โดยสภาทองคำโลกแนะนำสัดส่วนการลงทุนในทองคำปีนี้ที่ 5-15% ของพอร์ตลงทุนรวม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปของนักลงทุนแต่ละราย
นอกจากนี้ จากกระแสข่าวที่เฟดเตรียมลดสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจนั้น หากพิจารณาจากสถิติการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในอดีต พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่เฟดประกาศดึงสภาพคล่องออก จะส่งผลให้ราคาทองคำแกว่งตัวได้ไม่ดี แต่หลังเฟดเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบจริง จะส่งผลให้ราคาทองแกว่งตัวได้ดีในช่วง 6 เดือนให้หลัง
เมื่อสอบถามถึงกระแสการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งจากกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการลงทุนในตลาดทองคำนั้น สภาทองคำโลกมองว่า ทองคำและสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) เป็นสินทรัพย์ที่มีความแตกต่างกัน เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ขณะที่คริปโทฯ ไม่สามารถจับต้องได้
นอกจากนี้ คริปโทฯ ยังมีความเสี่ยงที่สูงกว่า จากทั้งราคาที่มีความผันผวน ความเสี่ยงจากการถูกกำกับดูแลเพิ่มขึ้นในอนาคต ภายหลังรัฐบาลหลายประเทศประกาศแบน และบางประเทศเริ่มเก็บภาษีสินทรัพย์ดังกล่าว เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย
“แอนดรูว์” กล่าวอีกว่า ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการจากหลายกลุ่มนักลงทุนมากกว่า ทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ที่มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่สามารถกระจายการลงทุนได้ รวมถึงภาคการผลิต เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี และธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ ที่ต้องใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ แตกต่างจากคริปโทฯ ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยอมเสี่ยง (Take Risk) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่านั้น โดยแนะนำว่า หากนักลงทุนซื้อคริปโทฯ ก็ควรลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์