เปิด “แพ็คเกจมอเตอร์ไซค์ EV” เตรียมเข้าครม. ภายใน ก.พ.65
เปิด “แพ็คเกจมอเตอร์ไซค์ EV” เตรียมเข้า ครม.ภายใน ก.พ.นี้ ไม่ทำตามเงื่อนไขส่งเสริมต้องคืนเงินอุดหนุนพร้อมยึดแบงก์การันตี ราคา 1.8 หมื่นบาท ลดสรรพสามิต 4 ปี เหลือ 0-2% ลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% ใช้สิทธินำเข้า 1 คัน ต้องผลิตรถ 1.5 คัน
ก่อนหน้านี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้นำเสนอ “แพ็คเกจอีวี” ที่รัฐบาลได้โหมโรงเพื่อดึงดูดความสนใจ “ผู้ผลิต-ผู้ซื้อ” โดยเฉพาะรถยนต์อีวี ดังนั้น วันนี้จะนำมาตรการสนับสนุนมอเตอร์ไซค์อีวีเพื่อให้กลุ่มนักปิดหัวใจสีเขียวได้มีทางเลือกก่อนในการตัดสินใจ
นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้เร็วที่สุด โดยเนื้อหาที่ได้ปรับเพิ่มเติมได้เสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคงใช้เวลาไม่นานนับจากนี้จะบรรจุวาระเข้า ครม.
สำหรับช่วงที่ผ่านมาที่ยังไม่เสนอ ครม.เพราะคณะทำงานต้องการทำแพคเก็จให้ดีที่สุดจึงปรับแก้รายละเอียดหลายแนวทาง รวมทั้งเป็นการแก้ไขเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศปรับตัวได้อย่างมั่นคง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ตอนนี้แพ็คเกจอีวีหากไม่เวียนหนังสือถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อบรรจุวาระเสนอ ครม.แต่เรื่องนี้ทำหนังสือเวียนอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วเข้า ครม.สัปดาห์หน้า และอย่างช้าไม่เกินกลางเดือน ก.พ.2565
สำหรับแพ็คเกจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (มอเตอร์ไซด์อีวี) ได้แบ่งเป็นราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ได้สิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ทั้ง CKD และ CBU ในปี 2565-2568 โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 หากจำเป็นขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568 โดยต้องผลิตอัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน และต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565-2566 เท่านั้น
ส่วนเงื่อนไขรถจักรยานยนต์ ZEV ต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนหรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักที่สูงกว่ามีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (KWh) ขึ้นไป หรือมีระยะทางที่วิ่งได้ตั้งแต่ 75 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ตามมาตรฐาน WMTC (World Motorcycle Test cycle) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป และต้องใช้ยางล้อที่เป็นไปตาม มอก. 2720-2560 (UN Reg.75) หรือที่สูงกว่า (UN Reg.75) กำหนด
นอกจากนี้ ยังต้องสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (Gross Vehicle Weight) ตามที่ผู้ผลิตกำหนดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2952-2561(UN Reg.136) หรือที่สูงกว่า 9 เป็นต้น
สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการฯ นั้น ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือจากบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และมีสัญญาว่าจ้างให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือที่มีสัญญาว่าจ้างการผลิตกับบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนภายใต้กิจการการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
ส่วนการวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) โดยผู้ขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องมีการวางหนังสือคำประกันจากธนาคาร (Bank Guarantee) โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด
สำหรับบทลงโทษ กรณีผู้ขอรับสิทธิไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนฯ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับกรมสรรพสามิต ต้องคืนเงินอุดหนุนที่ได้รับเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย
อีกทั้ง กรมสรรพสามิตสามารถยึดเงินค้ำประกันจากธนาคารที่ได้วางไว้ และไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้าตามมาตรการฯ ดังกล่าวข้างต้น จึงต้องเสียภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้า พร้อมด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นับแต่วันที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษี เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสรรพสามิต ศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร