EA กางแผนปี 65 ตั้งเป้าโตธุรกิจอีวี ปิดออเดอร์รถยนต์ไฟฟ้า 3 พันคัน
รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุน “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) สะท้อนผ่านเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 100% ของกำลังการผลิตรวมอุตสาหกรรมภายใน 13 ปี หรือราวปี 2578
หนึ่งบริษัทที่ถือเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจดังกล่าว คงต้องยกให้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ของ “สมโภชน์ อาหุนัย” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือหุุ้นใหญ่สัดส่วน 23.21% (ตัวเลข 23 ธ.ค.2564) โดยมีความเชื่อที่ว่าสุดท้ายโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition)
“อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจให้ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า สำหรับแผนธุรกิจปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายสร้างการเติบโตใน “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า” สะท้อนผ่านสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอีวีเพิ่มขึ้นมา 25-30% จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 5%
โดยบริษัทยังมีรายได้หลักจาก “ธุรกิจพลังงานทดแทน” เนื่องจาก “โรงงานผลิตแบตเตอรี่” และ “โรงงานประกอบรถบัสไฟฟ้า” เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 โดยคาดว่าในปี 2565 จะเริ่มเห็นฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น หลังช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการเดินสายทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐมีมาตรการกระตุ้นตลาดให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้เร็วตามกระแสข่าวที่ออกมา มองว่ามีโอกาสที่จะเห็นสัดส่วนรายได้ธุรกิจอีวีเพิ่มขึ้นแตะระดับเกิน 50% ของรายได้รวม
สอดรับเป้าหมายในส่วนของ “การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า” ปีนี้ที่ตั้งเป้ามี “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) แตะ 3,000 คัน จากออเดอร์ของลูกค้าเอกชนที่ทยอยสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปทดลองใช้ในฟลีท (Trial Lot) รวมทั้งการขายรถเมล์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่ได้รับสัมปทานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการจับมือกับ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถบรรทุกหัวลากรายใหญ่ที่มีรถบรรทุกในฟลีทกว่า 1,000 คัน โดยคาดว่าจะเห็นความร่วมมือในการนำรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้าไปวิ่งในฟลีทของพันธมิตรภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งมีแผนจะเปลี่ยนรถบัสใช้พลังงานน้ำมันเป็นรถบัสที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
ส่วนของ “การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” คาดว่าการผลิตจะเติบโตตามออเดอร์ที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าในปีนี้ ในส่วนของ “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” คาดจะเห็นการเติบโตจากปีก่อน ทั้งในรูปแบบซื้อขาดจากลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท และการติดตั้งสถานีชาร์จตามจุดที่ลูกค้าต้องใช้บริการ
โดยบริษัทเริ่มเน้นสถานีชาร์จที่อยู่ระหว่างจังหวัดมากขึ้น ภายหลังสถานีชาร์จไฟฟ้าของบริษัทราว 500-600 จุด หรือราว 2,000 หัวชาร์จ แบ่งเป็นหัวชาร์จไฟฟ้าปกติ 1,300 หัว และหัวชาร์จเร็ว (Fast Charge) ราว 700 หัว ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว
“วันนี้สิ่งที่เราโฟกัสคือตลาดรถขนส่ง ซึ่งมีส่วนที่วิ่งระหว่างจังหวัดค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เราคงไปตามลูกค้าว่าเขาวิ่งเส้นทางไหน ก็ตามไปติดสถานีชาร์จให้เขา เพื่อให้เขาสบายใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าหากวิ่งไปจะมีจุดจอดชาร์จ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไปถึงจุดหมาย หากนับเป็นจำนวนจุดคงไม่เยอะ แต่หากนับเป็นจำนวนหัวจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นจุดสำหรับรองรับรถยนต์ขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นฮับ และจะเน้นหัวชาร์จเร็วเป็นหลัก”
เขาเล่าต่อว่า สำหรับธุรกิจเดิม “ไบโอดีเซล-พลังงานทดแทน” วางเป้าหมายรักษาการเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่โตหวือหวาเท่าธุรกิจอีวี โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจพลังงานทด 60% ธุรกิจไบโอดีเซล 35% และ ธุรกิจอีวี 5%
สำหรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจอีวี ทั้งในส่วนของ แบตเตอรี่ รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ หากรับรู้ยอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าจากลูกค้าได้มาก ก็คาดว่ากำไรมีโอกาสจะเติบโตมากกว่าที่บริษัทประเมินเอาไว้
ปัจจุบันบริษัทมีออเดอร์รถบัสไฟฟ้าขนาดเล็ก (มินิบัส) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทยอยส่งมอบในปี 2565 อีกราว 300-400 คัน รวมถึงการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าประเภทใหม่ๆ เช่น รถเก็บขยะอีวี และรถบรรทุกหัวลากอีวี ซึ่งจะทยอยเปิดตัวในปีนี้ ภายหลังบริษัทเดินสายทำการตลาดกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าก็ให้การตอบรับดี เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่ารถน้ำมัน
ขณะที่งบลงทุนในปี 2565 คาดว่าจะลดต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา ที่มีงบลงทุนเฉลี่ยปีละ 7,000-10,000 ล้านบาท เพราะปีนี้ถือเป็นปีที่เก็บเกี่ยวการลงทุนจากปีก่อนๆ โดยคาดว่างบลงทุนปีนี้จะอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท โดยหลักเป็นงบลงทุนที่ตั้งไว้ใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Cap) สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าราว 3,500 ล้านบาท และโรงงานแบตเตอรี่ราว 2,000 ล้านบาท รวมถึงงบปรับปรุงโรงงานหลักสิบล้านบาท และงบจัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าหลักล้านบาทต่อจุด
สำหรับแหล่งเงินทุน บริษัทจัดเตรียมไว้หลากหลาย ทั้งหุ้นกู้ ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) และเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งสถาบันการเงินจะเป็นผู้สนับสนุนในส่วนที่เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และโรงงานแบตเตอรี่เป็นหลัก ส่วนสุดท้ายมาจากกระแสเงินสดภายในบริษัท
รวมทั้งบริษัทไม่ได้ปิดกั้นในการออกหุ้นกู้ปีนี้ โดยมีการเตรียมการไว้เผื่อตลาดอีวีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นต้องขยายการผลิต ซึ่งในอดีตบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วหลายชุด เชื่อว่าชื่อเสียงของบริษัทจะเป็นที่รู้จักในตลาดตราสารหนี้ระดับดี
สำหรับภาพรวมธุรกิจปี 2564 ที่ผ่านมา คาดเติบโตได้ตามเป้าหมาย 20-30% โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจใหม่ ภายหลังบริษัทเริ่มเปิดดำเนินการโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานประกอบรถบัสโดยสารไฟฟ้าไป รวมถึงมีการส่งมอบรถบัสไฟฟ้าแก่ลูกค้าไปแล้วบางส่วนประมาณ 120 คัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจเดิม ได้แก่ ไบโอดีเซล และโรงไฟฟ้า อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีความต้องการใช้ต่อเนื่อง
ส่วนการขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ยอมรับว่าชะลอตัวลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทั้งอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารและการเข้าไปติดตั้งหัวชาร์จในพื้นที่ ขณะที่บางพื้นที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของเพราะพิษโควิด-19
ท้ายสุด “อมร” บอกไว้ว่า แผนพัฒนาตลาดรถอีวีไทย หากแพ็คเกจที่รัฐบาลเตรียมจะนำออกมาสนับสนุนได้รับการตอบรับที่ดี เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดรถอีวีไทยโตอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าแพ็คเกจดังกล่าวจะเน้นสนับสนุนรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งอาจไม่ใช่กลุ่มที่บริษัทโฟกัส แต่เชื่อว่าจะส่งอานิสงส์เชิงบวกในแง่ของโมเมนตัมให้ตลาดรถอีวีของไทยคึกคักมากยิ่งขึ้น สร้างการตื่นตัว ส่งเสริมให้คนหันมาสนใจรถอีวีมากขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านรถพลังงานน้ำมันไปยังรถพลังงานไฟฟ้าน่าจะทำได้เร็วขึ้น รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ