เมื่อ'เจ้าสัวเจริญ'ตัดใจ ปิด'อาคเนย์ประกันภัย' หลังควักหมื่นล้านพยุง
“อาคเนย์ประกันภัย” ธุรกิจประกันวินาศภัย ภายใต้ร่มเงา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”กับเส้นทางดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยในไทยที่ยาวนานกว่า 76ปี จนมีส่วนแบ่งตลาดติดอันดับท็อป 10 ของธุรกิจประกันวินาศภัย แต่ต้องจำใจปิดตัว หลังควักเงินพยุงกิจการเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
“อาคเนย์ประกันภัย” มีฐานะการเงินสะสมเกือบ 2,000 ล้านบาท มีรายได้จากเบี้ยประกันภัยรับรวมปีละ 10,000 ล้านบาท คงไม่มีใครคิดว่าเจ้าสัวฯ ตัดสินใจ “ขอปิดกิจการ”
การขอปิดกิจการ “อาคเนย์ประกันภัย” สะเทือนทั้งวงการด้วยผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและมีวิธีขอปิดกิจการที่เรียกว่า “ไม่ธรรมดา” ให้ได้พิจารณาหลากหลายแง่มุมมอง
“อาคเนย์ประกันภัย” เจอมรสุมแรก หลังเดือน ก.ย.ปีก่อนช่วงโควิดเดลตาระบาด มียอดเคลมประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ทะลักพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จ่ายเคลมล่าช้า จนผู้เอาประกันต้องไปปิดล้อมหน้าบริษัท แต่ก็ได้เร่งปรับปรุงระบบเหมือนจะผ่านมาได้
แต่ยอดเคลมโควิด เจอจ่ายจบ ยังถาโถมใส่บริษัทประกันที่รับประกันภัยโควิดหลายแห่ง ทั้งประกาศเวนคืนกรมธรรม์โควิด เจอจ่ายจบและปล่อยให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิกถอนใบอนุญาต คือ1. เอเชียประกันภัย 2. เดอะ วัน ประกันภัย และ “อาคเนย์ประกันภัย” กำลังจะตามมาเป็นรายที่ 3 ด้วยวิธีขอปิดกิจการแบบหล่อๆ แต่ผู้เอาประกันกลับตั้งคำถามว่า “แบบนี้ก็ได้หรอ”
สาเหตุหลักปรากฎชัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 บริษัทเครือไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TGH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 97.33% แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การแพร่ะบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ส่งผลต่อสถานะการเงินและอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนของอาเคนย์ประกันภัย ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากยังประกอบธุรกิจต่อไป จะไม่มีเงินมาจ่ายสินไหม จะกระทบเป็นวงกว้าง
ดังนั้น“บริษัทขอเลิกกิจการตอนนี้จะดีกว่า” โดยขอเลิกกิจการ “ลดผลกระทบ” แบบเป็นวงกว้าง โดยส่งมอบกรมธรรม์ที่มีอยู่ทั้งหมด ที่เกี่ยวกับโควิดและไม่เกี่ยวกับ โควิดให้กับ “คปภ.” เป็นผู้มีอำนาจ “คืนเบี้ย” ให้กับผู้ทำประกัน หรือจัดหาผู้รับประกันรายใหม่แทน โดยไมม่มีการโอนกิจการให้ “อินทรประกันภัย” ซึ่งเป็นบริษัทประกันใต้ร่มเงาของเจ้าสัวฯ
ก่อนหน้านี้ "อาคเนย์ประกันภัย" ยังอยู่ได้ เพราะมีเงินจาก“เจ้าสัวเจริญ” ใส่เงินมาเติมไปแล้ว 9.9 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ 8 พันล้านบาทเป็นของ อาคเนย์ฯ และได้ส่งประกันภัยต่อไปที่“ไทยประกันภัย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทประกันวินาศภัยของเจ้าสัว-เจริญ เช่นกัน โดยอาคเนย์ฯรับเบี้ยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ แค่ 900 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายเคลมเกือบหมื่นล้านบาท แน่นอนว่าถ้าไม่ใช่เจ้าสัวระดับเจ้าสัวเจริญ หากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อื่นน่าจะปล่อยให้อาคเนย์ฯล้มไปนานแล้ว
การก้าวข้ามปีมาปีนี้ด้วยจำนวนลูกค้ากรมธรรม์ประกันโควิดกว่า 1.85 ล้านราย และความคุ้มครองจะทยอยสิ้นสุดลงทุนในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ในช่วง 4 เดือนปีนี้ภายใต้สถานการณ์โควิดกลายพันธุ์ที่เป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ได้ทุกนาที และ “เจ้าสัวเจริญ” คงใช้เอไอประเมินแล้วไม่อยากเสียไปมากกว่านี้จึง “ขอจบ” แค่นี้เลยดีกว่า
แต่การ“ขอจบ”แค่นี้ โดยให้กองทุนประกันวินาศภัย มาอุ้ม ลูกค้ากรมธรรม์โควิด 1.85 ล้านราย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อ คปภ.กางข้อกฎหมายแล้วยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะตามพรบ.ประกันวินาศภัย “กองทุนประกันวินาศภัย” จะคุ้มครองเฉพาะเจ้าหนี้หรือลูกค้าบริษัทประกันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้นไม่ครอบคลุมบริษัทประกันภัยที่ขอเลิกกิจการเอง
ยังไง “อาคเนย์ประกันภัย” เลิกกิจการแน่นอน แต่จะเลิกแบบไหน ไม่สำคัญเท่ากับ “เลิกแล้ว” เลิกบนความรับผิดชอบต่อลูกค้าจนถึงที่สุดผู้ถือกรมธรรม์กว่า 10 ล้านราย ให้ได้รับความคุ้มครองจนสิ้นสุดกรมธรรม์ หรือได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ตามความสมัครใจของผู้เอาประกันที่ควรจะได้ “รับประกันด้วยความจริงใจ”นั้นคือ “เส้นทางของผู้กล้าตัวจจริง” น่าจะเป็นปิดตัวอย่างตำนานที่น่าจดจำ
และยังต้องติดตาม กระบวนการคืนเบี้ยตามข้อเสนอทำได้จริงหรือไม่เช่นเดียวกับ "พันธมิตรการค้า อู่ซ่อม โรงพยาบาล ตัวแทนนายหน้ากว่า 9 พันราย"จะได้รับเงินครบถ้วนหรือไม่ และมี "พนักงานอาคเนย์กว่า 1,396 ราย”จะได้ชดเชยอย่างไรต่อไป
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด กลายเป็นบทเรียนสำคัญของการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ทุกคนทั้งรัฐและเอกชน ต้องกลับมาพิจารณาความเสี่ยงและการรับประกันภัยอย่างละเอียด รอบคอบ เจรจาร่วมกันหาทางออกดูแลผลประโยชน์ “ประชาชน” ผู้ถือกรมธรรม์สูงสุดไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่บริษัทสะสมมา จะหายวับไปภายในปีเดียว
“ในวิกฤติความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันวินาศภัย” จะเรียกกลับมาโดยเร็วอย่างไร และต้องติดตามต่อไปว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินของ TGH” วันข้างหน้าจะเรียกศรัทธากลับมาเช่นไร น่าจะเห็นการประกาศนโยบายของกลุ่ม TGH ในเร็ววันนี้